- สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากจีน 4 เท่า เพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมืองในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี และเป็นการสกัดกั้นแผนการทำตลาด BEV ของค่ายจีน รวมถึงผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น
การปรับขึ้นภาษีนำเข้า BEV จีนน่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตจีนเข้าไปลงทุนห่วงโซ่อุปทาน BEV ในเม็กซิโกเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง USMCA ทำให้อานิสงส์ต่อไทยในการส่งออก BEV ไปสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในวงจำกัด โดยในระยะเฉพาะหน้า การผลิต BEV ของค่ายจีนในไทยน่าจะเป็นไปเพื่อตอบสนองตลาดในประเทศเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 สหรัฐฯได้ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญเชิงยุทธศาสตร์บางประเภทจากจีน โดยหนึ่งในนั้น คือ รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles หรือ BEV) ที่ถูกปรับภาษีนำเข้าจาก 27.5% ไปเป็น 102.5%[1] แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ มีการนำเข้า BEV จากจีนในสัดส่วนที่น้อยเพียง 2% ของมูลค่าการนำเข้า BEV ของสหรัฐฯ ในปี 2566 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ค่ายรถสหรัฐฯ กำลังประสบภาวะยากลำบากและขาดทุนในการทำตลาด BEV สะท้อนจากในช่วงไตรมาสแรก 2567 ตลาด BEV สหรัฐฯ หดตัวกว่า 15.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากจีนในครั้งนี้ น่าจะมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ
- การหวังผลทางการเมืองในเวทีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ โดยเฉพาะในรัฐที่เป็น Swing State อย่างจอร์เจีย แอริโซนา เนวาดา และมิชิแกน ซึ่งเป็นรัฐที่กำลังมีการลงทุนห่วงโซ่อุปทาน BEV ภายใต้เงินสนับสนุนจากกฎหมายการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐฯ
- เป็นการสกัดกั้นแผนการทำตลาด BEV ของค่ายจีน โดยเฉพาะก่อนผลการตัดสินมาตรการเก็บภาษี BEV จีนของ EU แม้ปัจจุบันค่ายรถจีนส่วนใหญ่ยังแทบไม่มีการทำตลาดในสหรัฐฯ แต่การเร่งทำตลาดโลกของหลายค่ายรถจีนหลังการชะลอตัวของตลาด BEV จีน ทำให้การเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไม่ไกลนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก EU ขึ้นภาษีนำเข้า BEV จีน จากกรณีสืบสวนการได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งจะประกาศผลในช่วงพฤศจิกายนปีนี้ (ทาง EU อาจจะเริ่มใช้มาตรการเก็บภาษีชั่วคราวตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม) ทำให้ค่าย BEV จีนอาจจำเป็นต้องเร่งหาตลาดทดแทน โดยการขยายตลาด BEV สู่สหรัฐฯ
- การปกป้องผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ จากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น จากแนวทางบุกตลาดของค่ายรถจีนที่มักใช้กลยุทธ์ด้านราคา ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในตลาดรถยนต์ในหลายประเทศ เช่น จีน ไทย และ EU เป็นต้น สร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของค่ายรถสัญชาติอื่น เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นรองจีนด้านต้นทุนการผลิต
การปรับขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากจีนน่าจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิต BEV จีนเข้าไปลงทุนในเม็กซิโกเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น การส่งออกจากเม็กซิโกไปสหรัฐฯ แม้จะมีสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลงการค้า USMCA แต่เงื่อนไขที่เข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ที่กำหนดให้สัดส่วนมูลค่าชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา รวมกันสูงถึง 75% ทำให้ในระยะเฉพาะหน้า ค่ายรถจีนในเม็กซิโกน่าจะเลือกนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนเพื่อประกอบและส่งออกไปสหรัฐฯ ภายใต้อัตราภาษีในกรอบปกติ (MFN) ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.5% แทน อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป คงต้องติดตามความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะออกมาตรการตอบโต้ต่อแนวทางดังกล่าว เช่น ขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากเม็กซิโกในกรอบปกติ เป็นต้น
กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า BEV จีน น่าจะส่งผลสืบเนื่องต่อไทยในวงจำกัด แม้ว่าในปี 2024 ค่ายรถจีนบางค่ายจะเริ่มทยอยผลิต BEV ในไทย แต่กำลังการผลิตส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับค่ายรถจีนยังคงไม่เริ่มทำตลาดในสหรัฐฯ ทำให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ส่งออก BEV ไปสหรัฐฯ ในวงจำกัด ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบจากการดำเนินกลยุทธ์ราคาของค่ายรถจีนอาจจะเข้มข้นขึ้น หาก EU ดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้า BEV จากจีน ขณะที่ต้องเผชิญภาษีนำเข้าที่สูงของสหรัฐฯ ทำให้ค่ายรถจีนจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกอื่นทดแทนซึ่งรวมถึงไทย ดังนั้น การแข่งขันด้านราคาในตลาด BEV จะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
[1] ภาษีที่ถูกปรับเพิ่มในครั้งนี้อยู่ภายใต้กฏหมายการค้ามาตรา 301 ซึ่งเป็นภาษีส่วนเพิ่มจากกรอบปกติ (MFN) ที่อยู่ในอัตรา 2.5% สำหรับ BEV