ธ.ก.ส. เผยผลงานปีบัญชี 2566 เติมเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบท 8.6 แสนล้านบาท ด้านการบริหาร NPLs ภาคการเกษตร ลดลงต่ำสู่ระดับร้อยละ 5.5 ทำให้ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรของไทยได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหา COVID-19 ความขัดแย้งทางการค้า สงคราม สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลโดยตรง ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ราคาสินค้าผันผวน และได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จนทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของ ธ.ก.ส. เคยสูงถึงร้อยละ 14.64 ในปีบัญชี 2565 แต่จากการดำเนินงานตามมาตรการของรัฐบาล และในส่วนของ ธ.ก.ส. ทำให้ผลการดำเนินงานปีบัญชี 2566 (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. สามารถลด NPLs ลงมาที่ร้อยละ 5.5 โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีการดูแลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะควบคุม NPLs ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ร้อยละ 4 ตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารในปีบัญชี 2567 ในส่วนของบทบาทหลัก ธ.ก.ส. ยังได้เติมเม็ดเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นการลงทุนภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 859,575 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงเหลือ 1.69 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปีบัญชี 51,736 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.16 มียอดเงินฝากสะสม 1.89 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปี 58,822 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.22 โดยสร้างฐานการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น สลาก ธ.ก.ส. ชุด ถุงทอง วงเงิน 100,000 ล้านบาท และสลากดิจิทัล เป็นต้น มีสินทรัพย์ จำนวน 2.30 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.72 หนี้สินรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนของเจ้าของ 158,865 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.75 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
ด้านการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ให้กับเกษตรกรที่มีหนี้รวมต้นเงินคงค้างทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาทซึ่งมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. BAAC Mobile ถึง 1.84 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนลูกค้าที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการ โดยในจำนวนลูกค้าที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเงินกู้แล้วจำนวน 1.39 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้แจ้งความประสงค์ร่วมมาตรการ และในจำนวนนี้มีลูกค้าที่แสดงความประสงค์เข้าหลักสูตรการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” แล้วจำนวน 1.3 แสนราย โดยธนาคารจะดำเนินการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ให้ได้จำนวน 3 แสนรายภายในเดือนกันยายน 2567 ขณะที่ มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ ผ่านสินเชื่อเพื่อชำระหนี้นอกระบบวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 545 ล้านบาทและสินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน 9,572 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังให้คำปรึกษาด้านการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ เพื่อบรรเทาปัญหาและลดภาระการเป็นหนี้ในอนาคตผ่านโครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้ว 713,013 ราย เป็นเงินกว่า 60,389 ล้านบาท ส่วนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะความไม่สงบในประเทศอิสราเอล สำหรับนำไปชำระหนี้สินเดิมที่เกิดจากการกู้เงินไปทำงานอิสราเอลและลงทุนประกอบอาชีพใหม่ ส่วนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการฟื้นฟูศักยภาพผู้เลี้ยงสุกร ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท และสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนและชำระหนี้สินเดิม รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 11,016 ราย วงเงินกว่า 2,782 ล้านบาท โครงการสินเชื่อแทนคุณ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเปิดให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 3,433 ล้านบาท โดยมีทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,687 คนและล่าสุดคณะกรรมการธนาคารในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลให้กับสมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นเครือข่ายด้านสาธารณสุขที่ดูแลคนในชุมชน ให้กู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน หรือร้อยละ 8 ต่อปี เริ่มปล่อยสินเชื่อได้ภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป
ด้านการพัฒนา ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการธนาคารต้นไม้กว่า 6,800 ชุมชน จำนวนต้นไม้ 12.4 ล้านต้น การต่อยอดไปสู่การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit โดยเริ่มจำหน่ายที่ชุมชนบ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่นไปแล้ว จำนวน 400 ตันคาร์บอน และเตรียมขยายผลไปสู่ชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศ พร้อมวางเป้าหมายปลูกต้นไม้เพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น เพื่อรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี ค.ศ. 2050