- ทิศทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกปรับลง ส่งผลให้ราคาสุกรในกลุ่มผู้ผลิตรายสำคัญของโลกปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นจีน บราซิล เดนมาร์ก
- ขณะที่ไทย แม้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสุกรจะปรับลดลงตาม แต่ปริมาณการผลิตสุกรยังกลับมาไม่เต็มที่ เนื่องจากราคาสุกรหน้าฟาร์มไม่จูงใจ และต้นทุนอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ต้นทุนการผลิตสุกรโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ตามทิศทางราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ราคาสุกรในกลุ่มผู้ผลิตรายสำคัญของโลกมีแนวโน้มปรับลดลง ไม่ว่าจะเป็นจีน บราซิล เดนมาร์ก สะท้อนได้จากราคาสุกรเฉลี่ยในกลุ่มประเทศดังกล่าว ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ปรับลดลงราว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
สำหรับไทย ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสุกร มีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีและปลาป่น ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อการผลิตสุกรลง
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตสุกรยังกลับมาไม่เต็มที่ สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ปริมาณผลผลิตสุกรอยู่ที่ 17.5 ล้านตัว แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.8 ล้านตัว แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาด ASF ซึ่งจะเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 ล้านตัว โดยมีสาเหตุหลักมาจาก
- ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่จูงใจต่อการเพิ่มผลผลิตสุกร โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 66 บาท/กก. หดตัว 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาขายปลีกเนื้อหมูเฉลี่ยในประเทศ[1] ให้ยังคงปรับลดลงตาม โดยมีระดับราคาอยู่ที่ 164 บาท/กก. หดตัว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ต้นทุนการผลิตสุกรอื่นๆ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้อีก อาทิ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน เป็นต้น
ด้วยต้นทุนการผลิตสุกรที่ยังคงมีความผันผวน ขณะที่ราคาขายสุกรยังอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่จูงใจต่อการเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรของเกษตรกร สะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ระบุว่า ในปี 2566 ต้นทุนการการผลิตสุกรอยู่ที่ 87.5 บาท/กก. ขณะที่ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอยู่ที่ 78.0 บาท/กก. ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรขาดทุนราว 9.5 บาท/กก.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2567 ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์มอาจอยู่ที่ 70 บาท/กก. หดตัว 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 78 บาท/กก. ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้คาดว่าราคาขายปลีกเนื้อหมูโดยเฉลี่ยในประเทศน่าจะยังลดลง โดยอาจอยู่ที่ 166 บาท/กก. หดตัว 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่ 177 บาท/กก.
สถานการณ์ข้างต้น จึงกระทบทิศทางการผลิตสุกรในประเทศ โดยเฉพาะการกลับมาเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายยังคงต้องร่วมกันยกระดับราคาและสร้างกลไกที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสุกรอย่างยั่งยืน
[1]เฉลี่ยจากราคาขายปลีกเนื้อหมู 3 ประเภท คือ เนื้อแดงสะโพก เนื้อแดงสันในและเนื้อสามชั้น