
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย คว้ารางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 – 13 เมษายน 2568 พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และมอบรางวัลแก่ผลงานที่มีความโดดเด่น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้บริหารของกระทรวง อว. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักประดิษฐ์ และนักวิจัย เข้าร่วมในพิธี โดยในปี 2568 นี้ มีนักประดิษฐ์กว่า 40 ประเทศ นำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน ที่เข้าร่วมการประกวด ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาศักยภาพของคนในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งหวังที่จะให้บุคลากรที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยด้าน ววน. ในเวทีโลก และขอขอบคุณ วช. ที่ได้มีกลไกความร่วมมือกับองค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับสากล ในการคัดเลือกผลงานจากนักประดิษฐ์ไทยในการเข้าสู่เวทีการประกวดในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักประดิษฐ์จากทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ จะได้ใช้โอกาสจากการประกวดแข่งขันนี้ในการสร้างมาตรฐาน สร้างเครือข่ายการทำงาน และยกระดับศักยภาพผลงานของไทย เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวง อว. โดย วช. ได้รับมอบหมายในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทย ในการนำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติงาน International Exhibition of Inventions Geneva และในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 50 นี้ นับเป็นอีกโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย สามารถแสดงสมรรถนะและขีดความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพในระดับสากล ตลอดจนสร้างโอกาสในการต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์และการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
โดยในปีนี้ วช. ได้สนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย ด้านสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เข้าร่วมงาน ซึ่งได้รับการตอบรับจากทัพนักประดิษฐ์ของไทยมากกว่า 300 คน เข้าร่วมงาน ในโอกาสนี้

นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้เข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติอันทรงเกียรติอย่าง “The 50th International Exhibition of Inventions Geneva”
ซึ่งผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้สร้างความประทับใจและคว้ารางวัลเหรียญทอง รวมถึงรางวัลพิเศษอันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ ดังนี้
- รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with Congratulations of Jury) และรางวัลเหรียญทอง รวมจำนวน 25 ผลงาน
- พร้อมรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) อีกเป็นจำนวนมาก
ผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with Congratulations of Jury) และเหรียญทอง ได้แก่
- ผลงานเรื่อง นวัตกรรมใยอาหารสำเร็จรูปนวัตกรรมใหม่จากใบไผ่กระเจี๊ยบแดงและหล่อฮังก้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริยา ณ นคร และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงานเรื่อง นวัตกรรมโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ผลงานเรื่อง ชุดตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจอัจฉริยะแบบพกพาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบให้คำแนะนำสุขภาพหลายภาษาสำหรับการแพทย์ทางไกลส่วนบุคคล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ผลงานเรื่อง การผสมผสานโลหะวิทยาขั้นสูงและงานหัตถศิลป์: นวัตกรรมที่เชื่อมโยงมรดกวัฒนธรรมสู่ความยั่งยืนในธุรกิจเครื่องประดับ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ผลงานเรื่อง อุปกรณ์รัดยางริดสีดวงแบบใหม่ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จุมพล วิลาศรัศมี และคณะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- ผลงานเรื่อง เครื่องตรวจการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาทโดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนต์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จุมพล วิลาศรัศมี และคณะ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
- ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มน้ำผลไม้รวมเสริมไลโคปีนเบตากลูแคน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินาถ สุคนเขตร์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
- ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มให้พลังงานโอลิโกแซคคาไรด์จากข้าวสำหรับนักกีฬาทนทาน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุคันธา โอศิริพันธุ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผลงานเรื่อง ผ้าซัพพอร์ตเข่าและข้อต่อจากเส้นใยกล้วย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- ผลงานเรื่อง ไอเซดาร์ โบนเอ็กซ์: ระบบความร่วมมือทางการแพทย์แบบหลายชั้นบนคลาวด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนแพทย์มือใหม่ในการวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักในห้องฉุกเฉินในพื้นที่ชนบท โดย ดร.ทศพร เฟื่องรอด และคณะ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- ผลงานเรื่อง นูโมน่า™ การปรับปรุงเซลล์ขั้นสูงเพื่อการฟื้นฟูและคืนความอ่อนเยาว์ โดย นางสาวดวงศิริ หลายกิจรุ่ง และคณะ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- ผลงานเรื่อง เครื่องมือปลด-เชื่อม PG Clamp โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า โดย นายพิทักษ์ สุนันต๊ะ และคณะ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- ผลงานเรื่อง เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงแบบมีการเสริมแรง โดย นายไอศูรย์ เพชรวงษ์สกุล และคณะ จากการไฟฟ้านครหลวง
- ผลงานเรื่อง เอ็มดีคอนท์: นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อระดับสูง ด้วยอนุภาคเงินนาโนชีวสังเคราะห์จากกระชายขาว สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และคณะ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย
- ผลงานเรื่อง โปรทริว่า แบล็คซีดส์ น้ำมันงาดำสกัดเย็น เซซามินมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดย นายอนัส ประทีปสุวรรณ บริษัท นิวทริชั่น ไซเอนซ์ แลบบอราทอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
- ผลงานเรื่อง บูสตาร์ เบอร์รี่ แมกซ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน และคณะ บริษัท 7 ดราก้อน อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
- ผลงานเรื่อง AERA: นวัตกรรมเสริมสร้างความแข็งแรงของปอด สำหรับผู้สูงอายุและผู้มีอาการทางระบบหายใจ โดยเทคนิคการหายใจแบบ 4-7-8 โดย นายกฤตพล กีรติเรืองรอง และคณะ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- ผลงานเรื่อง IKTO : นวัตกรรมกระเบื้องมวลเบาซูเปอร์ไฮโดรโฟบิกรักษ์โลกประสิทธิภาพสูงสำหรับปูพื้นห้องน้ำเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม โดย นายวุฒิภัทร ดิเรกรุ่งเรือง และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี
- ผลงานเรื่อง กระบวนการผลิตโกโก้เพื่อเพิ่มมูลค่าโกโก้ไทยและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงานเรื่อง เครื่องดื่มโพรไบโอติกส์จากผงมะพร้าวเสริมไฟเบอร์ โดย ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. โกสุม จันทร์ศิริ และคณะ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
21 ผลงานเรื่อง นาโนสเปรย์จากสารสกัดเปลือกกระเชาเพื่อรักษาโรคเรื้อน การอักเสบ และบาดแผลของสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยชนก ปันดิษฐ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ผลงานเรื่อง สารออกฤทธิ์ทุติยภูมิจากเห็ดหลินจือแดงสำหรับบรรเทาอาการของโรคไต: ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเบต้าไลฟ์ โดย นางสาวอุบล ฤกษ์อ่ำและคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- ผลงานเรื่อง โดรนเพื่อการแสดงพลุไฟ โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
- ผลงานเรื่อง นวัตกรรมระบบออกซิเดชันขั้นสูงสำหรับฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคแบบในรถพยาบาลแบบอัตโนมัติ โดย นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล และคณะ จากบริษัท คิวจีนิค จำกัด
- ผลงานเรื่อง กลู-เอ็กซ์ ปุ๋ยน้ำกลูต้าเมต คีเลตเสริมธาตุอาหารสำหรับพืช โดย นายธรณ์ โกศลพัฒนดุรงค์ และคณะ จากบริษัท แอคคอร์ดอินเตอร์เทรด จำกัด

รางวัล Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
1.รางวัลจาก Saudi Arabia (Outstanding Innovation Award) ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจอัจฉริยะแบบพกพาด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ พร้อมระบบให้คำแนะนำสุขภาพหลายภาษาสำหรับการแพทย์ทางไกลส่วนบุคคล” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค และคณะ จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- รางวัลจาก Hong Kong Delegation (Invention Award) ผลงานเรื่อง “เอ็มดีคอนท์: นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อระดับสูง ด้วยอนุภาคเงินนาโนชีวสังเคราะห์จากกระชายขาว สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์” โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และคณะ จากสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย
3.รางวัลจาก China Association of Inventions (CAI Award) ผลงานเรื่อง “ไอเซดาร์ โบนเอ็กซ์: ระบบความร่วมมือทางการแพทย์แบบหลายชั้นบนคลาวด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์เพื่อสนับสนุนแพทย์มือใหม่ในการวินิจฉัยกระดูกสะโพกหักในห้องฉุกเฉินในพื้นที่ชนบท” โดย ดร.ทศพร เฟื่องรอด และคณะ จาก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ความสำเร็จของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถอันโดดเด่นของคนไทย ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลล้วนมีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวง อว. ยังคงส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ของประเทศต่อไป