มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผนึก บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ แว่นท็อปเจริญ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเตรียมจัดตั้งวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์ ผลิตนักทัศนมาตรหรือหมอสายตาที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสายตาและระบบการมองเห็น ในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต (Doctor of Optometry, O.D.) หลักสูตร 6 ปี หวังสร้างโอกาสให้เด็กไทยมีทางเลือกเรียนเป็นหมอสายตาและมีอาชีพที่มั่นคง และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพดวงตาได้ง่ายขึ้น โดยมีพิธีลงนามเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ณ ลิฟวิงฮอลล์ สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า ในปัจจุบัน แนวโน้มกระแส Wellness ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมกำลังเป็นหัวใจสำคัญของวงการสุขภาพทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้วางยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้าน Wellness และ สร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใน Wellness ทุกมิติ ซึ่ง Health and Wellness สำหรับดวงตาของเราก็เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพสำคัญ นั่นก็คือวิชาชีพนักทัศนมาตร หรือ Optometry ที่มีบทบาทสำคัญโดยตรงต่อทุกองค์ประกอบของการดูแลสุขภาพสายตา ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี
“สุขภาพสายตามีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกช่วงวัย ตั้งแต่การเรียนรู้ในเด็ก การทำงานในวัยหนุ่มสาว การเป็นนักกีฬา การทำงานที่ต้องอาศัยความละเอียด การเสริมสร้างบุคลิกภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดไปจนถึงการดูแลตนเองในวัยผู้สูงอายุ นักทัศนมาตรสามารถช่วยตรวจความผิดปกติของการมองเห็น แก้ไขปัญหาสายตาด้วยเลนส์ประเภทต่าง ๆ และเลือกอุปกรณ์ช่วยในการมองเห็นของคนที่เป็นสายตาเลือนราง ตรวจสอบและทดสอบระบบการเคลื่อนไหวของดวงตา ตรวจสอบการทำงานของตาร่วมกันทั้งสองข้าง ตรวจคัดกรองโรคตาเพื่อส่งต่อแพทย์ตามความเหมาะสม สามารถทำ Vision therapy ใช้เครื่องมือพิเศษที่ไม่ใช่การผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติงานในโรงพยาบาลร่วมกับจักษุแพทย์ ทั้งการตรวจคัดกรองโรคตา แก้ปัญหาการมองเห็นที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาโรคตา การแก้ไขปัญหาการมองเห็น ภายหลังทำหัตถการและการรักษาโรคทางตาแล้ว การจัดการและแนะนำอุปกรณ์ในการช่วยมองสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือสายตาเลือนราง นักทัศนมาตรจึงไม่ใช่เพียงผู้แก้ปัญหาสายตา แต่ยังเป็นผู้มีบทบาทในการทำให้เกิด Wellness ของผู้คน รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การใช้สายตาในการทำงาน การถนอมสายตาอีกด้วย”
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ตระหนักถึงความสำคัญนี้ และได้พัฒนาหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ ที่ต้องเรียน 6 ปี เพื่อเตรียมจัดตั้งวิทยาลัย โดยเน้นให้ครอบคลุมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ Wellness โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ๆ การสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสายตา และการสร้างเครือข่ายกับศูนย์ Wellness หรือคลินิกสุขภาพ เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์จริงที่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน อีกทั้งยังมุ่งมั่นพัฒนานักทัศนมาตรที่มีคุณลักษณะไม่เพียงแต่ความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ แต่ยังต้องมีทักษะในการดูแลสุขภาพเชิงรุกและการป้องกัน รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้คน ชุมชน สังคม อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพสายตาอย่างดีที่สุดได้อย่างเท่าเทียมทุกคน ซึ่งความเท่าเทียมนี้ขึ้นกับจำนวนนักทัศนมาตรในประเทศไทยเป็นสำคัญ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีผู้ประกอบโรคศิลปะ “ทัศนมาตรศาสตร์” จำนวนแค่เพียง 725 คน ซึ่งสถาบันการศึกษาต้องร่วมด้วยช่วยกันในการสร้างนักทัศนมาตรให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็ยังมีนักทัศนมาตรน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดว่าควรมีอยู่อีกมาก
“ความร่วมมือในครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างความเชี่ยวชาญในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ การร่วมกันจัดตั้งวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์จะมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพสายตาของสังคมไทยและระดับสากล โดยเราเชื่อมั่นว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแว่นท็อปเจริญในอุตสาหกรรมสายตาจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษา และพัฒนาหลักสูตรที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงาน” ดร.ดาริกา ระบุ
ด้าน นายนพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แว่นท็อปเจริญ – บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพสายตาเพิ่มมากขึ้น และประชาชนในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงในยุคดิจิทัลที่มีการใช้ดวงตากับหน้าจออุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตเป็นเวลานานในทุกช่วงอายุ จึงเป็นความตั้งใจของแว่นท็อปเจริญที่ต้องการพัฒนาการดูแลสายตาคนไทยให้ดีมีคุณภาพ และเล็งเห็นว่าคุณภาพสายตาที่ดีของคนเริ่มต้นจากการดูแลตรวจวัดโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เราจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันสาขาทัศนมาตรศาสตร์ของไทย ให้เติบโตยิ่งขึ้น หวังปั้นเด็กไทยเป็นหมอสายตาหรือนักทัศนมาตรให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการในตลาดวิชาชีพนี้ รวมถึงในปัจจุบันแว่นท็อปเจริญเรามีนักทัศนมาตรจำนวนมากประจำอยู่หลากหลายสาขาแล้ว แต่ยังต้องการให้มีนักทัศนมาตรประจำครบทุกสาขากว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการจัดตั้งวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์
หากพูดถึงวิชาชีพ “ทัศนมาตรศาสตร์” (Optometrist) ถือได้ว่าเป็นหมอทางด้านสายตา ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาครบหลักสูตรแล้ว สามารถขอใบประกอบวิชาชีพ ‘หนังสืออนุญาตให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์’ จากกระทรวงสาธารณสุขได้ โดยสามารถใช้ทักษะความรู้ความสามารถในการดูแลรักษาคนไข้ได้เทียบเท่าแพทย์ทั่วไป แต่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านสายตา ระบบการมองเห็น และความผิดปกติของกล้ามเนื้อดวงตา (ที่ไม่ใช่การผ่าตัดดวงตา) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในสังคมไทย และระบบสาธารณสุขของไทยในระดับปฐมภูมิ และยังเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพดวงตาและคัดกรองปัญหาสายตาเบื้องต้นที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตลอดจนยังช่วยป้องกันและรักษาก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือลุกลามได้
“อย่างไรก็ดีการเตรียมจัดตั้งวิทยาลัยทัศนมาตรศาสตร์ @ท็อปเจริญ แห่งนี้ขึ้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบการศึกษาวิชาชีพเฉพาะด้านสายตาได้ถูกพัฒนาต่อไปอีกขั้นทั้งในไทยและอาเซียนแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยมีทางเลือกเรียนเป็นหมอสายตาและมีอาชีพที่มั่นคง สามารถต่อยอดในเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดสายตาประจำสถานพยาบาล การศึกษาวิจัยร่วมกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน การคัดกรองสุขภาพสายตาเบื้องต้นที่ร้านแว่นตา หรือการเข้าทำงานกับบริษัทผลิตเลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ และบริษัทเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่ผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้” คุณนพศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย