ประเทศไทย หลายๆคนบอกมองไม่เห็นอนาคต
ประเทศไทย กำลังถอยหลังเข้าคลอง
บางคนบอกว่า ไทย เป็นสังคมจมปลัก
เศรษฐกิจเคยเติบโตเกิน 5% ต่อปี เดี๋ยวนี้เหลือประมาณ 2%
จำนวนประชากรไทยเริ่งทรงตัวและค่อยๆลดน้อยถอยลง
จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2566 ประชากรไทยมีทั้งสิ้น 66.05 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทย 65.06 ล้านคน และเป็นต่างชาติ ประมาณ 990,000 คน คิดเป็น 1.5% ของประชากรทั้งหมด
จากการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าประชากรไทยอาจจะลดลงเหลือ 33 ล้านคน อีก 60 ปี ข้างหน้า
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ละครอบครัว จะมีลูก 2-3 คน เดี๋ยวนี้ ครอบครัวไทยทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ มีลูกเพียง 1 หรือไม่มีเลย โดยคนที่ไม่มีลูกหันไปเลี้ยงหมาหรือแมวแทน เหตุผลสำคัญที่คนไทยยุคใหม่มีลูกน้อยลงนั้น หลักๆ คือเรื่องของเศรษฐกิจที่รายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่าย ตามมาด้วยเรื่องเวลาการเดินทางไป-กลับที่ทำงาน ที่ใช้เวลามากขึ้น การแยกครอบครัวจากพ่อแม่ ทำให้ไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก และอุปนิสัยที่หนุ่มสาวให้ความสนใจ คือ ความอิสระเสรี การท่องเที่ยว และบันเทิงเพิ่มขึ้น
ถึงแม้คนไทยจะมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น แต่คนเกิดใหม่ลดลงมากกว่า จึงทำให้ประชากรคนไทย
โดยรวมลดลง สังคมไทยจึงกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัย และประชากรไทยที่ทำงานมีจำนวนลดลง อีกทั้งต้องแบกรับภาระเสียภาษีเพื่อเลี้ยงคนชราเพิ่มขึ้นๆ
หลายๆ คนบอกว่า เราก้าวไม่ทันโลกในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ การศึกษาไทยมีความล้าหลังมาก ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานยุคดิจิทัล
หลายๆ คนบอกว่าประเทศไทยไม่ใหญ่พอที่จะเอื้อให้อุตสาหกรรมมีความได้เปรียบในเชิง
ปริมาณ (Economy of Scale) อย่างจีน ที่จะผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงมากได้
จำนวนประชากรไทย เป็นเพียงอันดับ 4 ในอาเซียน ตามหลังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ
เวียดนาม ซึ่งมีจำนวน 275.5, 115.6 และ 98.2 ล้านคน ตามลำดับ
หลายๆคนบอกว่า คนไทย ชอบความสนุกสนานบันเทิง ไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่มีระเบียบวินัย ไม่ชอบเรียนรู้หรือพัฒนาตนเองเหมือนอย่างคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือเวียดนาม..
หลายๆ คนบอกว่า เมืองไทยมีปัญหาซึ่งเป็นหนามยอกอกของประเทศ คือ โกง ทุจริต คอร์รัปชัน นิยมเส้นสาย เล่นพรรคเล่นพวก อยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง คุณธรรมความถูกต้อง และไม่ได้ยึดผลประโยชน์ของประเทศหรือส่วนรวมเป็นหลัก
คนชี้บอกปัญหาของประเทศมีพอสมควร แต่คนที่ช่วยชี้บอกแนวทางวิธีการป้องกันแก้ไขมี
ไม่มาก เริ่มจากเรื่องการขาดแคลนประชากร วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การนำเข้า หรือ Import เราขาดแคลนแรงงาน เราก็นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว เขมร.. ส่วนคนที่เก่งและขยัน โดยเฉพาะคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งเราขาดแคลน ผลิตได้น้อย อีกทั้งระบบการศึกษาเราก็ไม่เอื้อที่จะทำได้ในเวลาสั้นๆ
การสร้างมาตรการจูงใจ ส่งเสริมให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็พยายามทำอยู่ ตัวอย่างประเทศใกล้เคียงที่ทำอยู่ เช่น สิงคโปร์ ที่มีมาตรการส่งเสริมจูงใจต่างๆ ให้เข้าไปอยู่อาศัย และทำงานเพื่อช่วยเสริมสร้างนำพาประเทศก้าวหน้าไปสู่โลกแห่งอนาคต..
ส่วนประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร..ได้เปรียบที่มีอุตสาหกรรมและ
ตลาดแรงงาน ที่เอื้อให้คนเก่งย้ายเข้าไปทำงานได้เป็นจำนวนมาก
ประเทศไทย ไม่ได้มีตลาดแรงงานที่จะรับคนไฮเทคมากมายก็จริง แต่เดี๋ยวนี้ คนทำงาน Online
กันมากขึ้น ทำให้เกิด Digital Nomad จำนวนมาก ที่หาที่อยู่ที่ตัวเองชอบหรือที่ที่มีสิทธิพิเศษที่จูงใจ ที่จะอยู่อาศัยหรือลงหลักปักฐานในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการแขนงต่างๆ คนเก่งและคนขยันเหล่านี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปสู่อนาคต และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หนุ่มสาวคนไทยที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองอีกด้วย
ประเทศไทยเราเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนที่นำเงินลงทุนเข้าประเทศและสร้างงานให้แก่คน
ไทยจำนวนมาก แต่เรายังไม่ได้เน้นการส่งเสริมที่มากพอ เพื่อจูงใจให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หรือคนเก่งคนขยันเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย
คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ถึงแม้เราจะมีมาตรการจูงใจ ให้สิทธิ
พิเศษ ลดหย่อนภาษี.. แต่คนที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย แต่ละคนก็จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล การเดินทางท่องเที่ยว บันเทิง.. ทำให้เราได้มากกว่าส่วนลดภาษีหรือสิทธิพิเศษที่เราลดหย่อนให้เขา
การที่ชาวต่างชาติมาทำงาน ผู้ประกอบการแขนงต่างๆ รวมทั้งเศรษฐีนักลงทุน และผู้สูงวัยที่
เกษียณแล้วเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ถ้าเขาซื้อที่อยู่อาศัยในไทยด้วย ประเทศไทยก็จะเปรียบเสมือนยิงนกทีเดียวได้ 3 ตัว คือ เราได้ทั้งรายได้จากการส่งออกที่อยู่อาศัย (โดยที่สินค้านั้นยังคงอยู่ในประเทศ ไม่หายไป) เราได้เงินลงทุน เพราะเขานำเงินเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และเราได้รายได้การท่องเที่ยวอย่างถาวร ดีกว่าที่นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมาเที่ยวประเดี๋ยวประด๋าวไม่กี่วัน
ที่จริง ถ้าเราปรับกฎเกณฑ์เล็กน้อย เราก็จะได้ใจคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก เช่น เขาสามารถเลือกไปอยู่ในอเมริกา อังกฤษ หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสามารถซื้อบ้านได้ง่ายๆ ถ้าเราจะเอื้อให้เขาซื้อบ้านในโครงการจัดสรร เฉพาะในหัวเมือง 20 จังหวัด ที่เรากำหนดไม่เกินร้อยละ 49 ของนิติบุคคลบ้านจัดสรร ส่วนการถือครองของชาวต่างชาติในอาคารชุด ปรับเกณฑ์จากไม่เกิน 49% เป็น 70% โดยส่วนที่เกิน 49% จะไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงนิติบุคคลอาคารชุด (Voting Right) เป็นต้น ก็จะเป็นมาตรการที่จูงใจคนเหล่านี้ว่าเราไม่ได้กีดกัน และพร้อมต้อนรับให้เขาเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย
อนึ่งการขยายระยะเวลาการเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากไม่เกิน 30 ปี เป็นไม่เกิน 60 ปี ก็จะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ถือที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุด เราประมาณการว่า ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2.52 ล้านล้านบาท
ด้วยนักท่องเที่ยวประมาณ 36 ล้านคน หรือประมาณ 14 % ของรายได้ประเทศ (GDP) คือ 17.83 ล้านล้านบาท ถัวเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายคนละ 70,000 บาท
เราลองคิดดูว่า ถ้าประเทศไทยจะมีรายได้จากการที่ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยใน
ประเทศไทย เท่ากับรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 2.52 ล้านล้านบาทต่อปี เราต้องหาคนเข้ามาอยู่อาศัย และซื้อที่อยู่อาศัย จำนวนกี่คน ?
ถ้าชาวต่างชาติใช้เงินซื้อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยหน่วยละ 14 ล้านบาท จะเป็นจำนวนประมาณ
180,000 คนเท่านั้น หรือทุกๆ คนที่ซื้อที่อยู่อาศัย จะเทียบเท่านักท่องเที่ยวถึง 200 คน ถ้าเรามีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2.52 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วลองคิดดูว่า รายได้ประเทศหรือ GDP จะเติบโตเกินร้อยละ 10 ต่อปี ไปเป็นเท่าไร?
คนไทยไม่มีใครคัดค้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวช่วงสั้น
เพราะทำให้เราได้เงินที่นักท่องเที่ยวนำมาใช้จ่ายในประเทศไทย แต่ถ้าได้ชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่อยู่ถาวร ซึ่งเทียบเท่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาชั่วคราวถึง 200 คน ตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมต้องดีกว่าแน่นอน
เรามักจะมีคนห่วงและท้วงติงว่า จะเป็นการขายชาติไหม? คนที่ทักท้วงจะบอกว่าขายที่ดินหรือขายบ้าน คือขายชาติ แล้วการแต่งงานกับชาวต่างชาติเข้าข่ายขายชาติหรือไม่ แต่ถ้าแต่งกับชาวต่างชาติช่วงสั้นๆไม่กี่วัน ก็กลับจะไม่เป็นไร เช่นนั้นหรือ ?
จำนวน 180,000 คน เทียบกับประชากร 66 ล้านคน จะประมาณ 0.27% ซึ่งน้อยมาก และถึงจะไปรวมกับชาวต่างชาติที่มีอยู่แล้ว 1.5% ก็ยังคงน้อยมากอยู่ดี
เราดูตัวอย่างชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยที่ผ่านมา พอผ่านไปยังรุ่นลูก ก็จะถูกประเพณีวัฒนธรรมไทยหล่อหลอมกลายเป็นคนไทยไป ทั้งยังช่วยเติมเต็มช่องว่างหรือหลุมจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดต่ำลง อีกทั้งจะได้คนเก่งและขยันเข้ามาเสริมการพัฒนาประเทศให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
เรามาลองดูว่าประเทศอื่นๆ เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าไปอยู่อาศัยในประเทศเขา จำนวน
เท่าไหร่บ้าง เช่น
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีชาวต่างชาติถึง 8.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 88.1% ของ
จำนวนประชากรทั้งหมด 9.44 ล้านคน ปัจจุบันเป็นประเทศที่ชักชวนจูงใจให้เศรษฐีต่างๆ จากทั่วโลกเข้าไป ลงทุนและซื้อที่อยู่อาศัยได้มากที่สุดในโลก ทั้งที่อากาศร้อนและแห้งแล้งกว่าไทยมาก แต่คนเลือกไปอยู่เพราะว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย และมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติ
ประเทศสหราชอาณาจักร มีชาวต่างชาติ 10.4 ล้านคน คิดเป็น 15.52% ของจำนวนประชากร
ทั้งหมด 66.97 ล้านคน
ประเทศฝรั่งเศส มีชาวต่างชาติประมาณ 7 ล้านคน คิดเป็น 10.3% ของจำนวนประชากร
ทั้งหมด 67.97 ล้านคน เป็นต้น
ประเทศดังกล่าวข้างต้น เขาทำไมไม่กลัวว่าจะเป็นการขายชาติ หรือจะถูกต่างชาติฮุบประเทศ
แต่ประเทศยังคงเปิดกว้าง ก็ยิ่งได้คนดีคนเก่งเข้าไปช่วย ทำให้ประเทศเจริญเติบโตยิ่งขึ้น
ถ้าเราจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากรายได้การขายที่อยู่อาศัย 2.5 ล้านล้านบาท 1% ก็
จะเป็นเงินถึง 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เราสามารถนำเงินนี้ตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ถ้าคิดว่าช่วยรายละ 1 แสนบาท จะช่วยผู้มีรายได้น้อยถึงปีละ 250,000 ครัวเรือน เพราะการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน จะสร้างความมั่นคงเริ่มจากครอบครัว และมีผลต่อเนื่องไปสู่ความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติด้วย
ที่กล่าวมา เป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญวิธีหนึ่งที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่รัฐบาลยังต้องเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์พัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ทั่วประเทศให้บังเกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัย ที่เอื้อให้ชีวิตประชาชนคนไทยได้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น เช่น เส้นทางคมนาคมต่างๆ สนามบิน สถานศึกษา โรงพยาบาล… โดยเฉพาะโครงการที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของทำเลที่ตั้งของประเทศไทยในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของแหลมอินโดจีน เช่น การเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากจีนไปยังสิงคโปร์ การส่งเสริมเส้นทางทั้งถนนและรถไฟไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ และต่อเนื่องไปยังตะวันออกกลาง ก็จะจุดประกายความเป็นศูนย์กลางอินโดจีนของไทยให้สว่างไสวยิ่งขึ้น
โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ที่เชื่อมฝั่งอันดามันข้ามมายังอ่าวไทย ที่เสริมเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพิ่มจุดแข็งข้อต่อรองให้ประเทศไทยดีขึ้นในเวทีโลก และระยะยาวควรพิจารณาว่าการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล เพื่อป้องกันน้ำทะเลท่วมกรุงเทพฯ โดยสันเขื่อนยังใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ Eastern Seaboard กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อเนื่องกับ Land Bridge และ Southern Seaboard นั้น จะคุ้มค่าหรือไม่หรือมีวิธีอื่นๆ ที่ดีกว่า
การส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นสถานที่ๆ จัดแสดง Expo หรือมหกรรมนานาชาติ การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ตลอดจนไปถึง Olympic การจัดงาน Art Biennale กระจายไปในหัวเมืองต่างๆ.. เหล่านี้ ล้วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ ตั้งแต่อาคาร สถานที่ การยกระดับมาตรฐาน และการกระตุ้นประชาชนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย
รัฐบาลควรส่งเสริมโดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวจุดประกาย เช่นเดียวกับที่ประเทศสำคัญทั่วโลกได้ทำมาแล้ว เช่น การสร้างสนามกีฬาที่ทันสมัย โรงละครขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์ระดับโลก หอชมวิว ฯลฯ ที่เป็นจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทย
พื้นที่ดินของทางราชการที่ว่างอยู่ ทำเลดี ที่จะนำมาพัฒนาให้เป็นจุดขายดังกล่าวข้างต้นได้ดี เช่น ที่ดินท่าเรือคลองเตย ที่ดินแถวจตุจักรของการรถไฟ ฯ
ถ้าเราดูตัวอย่างย้อนหลังของประเทศต่างๆ ในโลกที่ใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวชูโรง เช่น
หอไอเฟล ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส, เทพีเสรีภาพ ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, พระเยซูบนยอดเขาในรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล, Opera House ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, Gardens by the Bay ประเทศสิงคโปร์, พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ต่างๆ Palm Jumeirah และตึกสูงที่สุด Burj Khalifa เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ชิงช้าสวรรค์ยักษ์ หรือ London Eye ริมแม่น้ำเทมส์…. เป็นต้น
การส่งเสริม Soft Power เป็นอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและส่งเสริม ควรปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ทั้งศิลปกรรม และวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันของเด็กและเยาวชนเพื่อกระตุ้นความสามารถที่ซ่อนเร้นให้ฉายแสงเปล่งประกายเฉิดฉาย
สิ่งต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างของเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทย ก้าวหน้าและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องเปลี่ยนจาก มองแคบ คิดใกล้ เป็น มองกว้าง คิดไกล
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกๆ คนจะมีส่วนร่วมในการช่วยคิด และช่วยกันทำให้เราไปสู่สิ่งที่เรามุ่งหวัง คือ ประเทศไทยที่เจริญเติบโตก้าวหน้าอย่างยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไป
ดร. ประทีป ตั้งมติธรรม
สิงหาคม 2567