Saturday, 21 December 2024 - 10 : 02 pm
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Saturday, 21 December 2024 - 10 : 02 pm

eisa ชุมชนดีมีรอยยิ้ม และกลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟ ร่วมกับ SIFE ลงพื้นที่กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านบึงหล่ม ครั้งที่ 2

โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม, บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมรม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม หมู่ที่ 10 ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร เป็นครั้งที่ 2

ในความร่วมมือพัฒนาช่องทางการตลาด การทำแบรนด์สินค้าแปรรูปภายใต้แบรนด์เดียวของชุมชน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสถานที่ทำพริกแกงให้มีความเหมาะสม การพัฒนาการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งทางคณะอาจารย์และนิสิตได้ดำเนินการวางแผนการทำงานโดยร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน  โดยในครั้งนี้เน้นไปที่ความร่วมมือ ในการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาขนาดบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการตลาดและการขนส่ง มีรายละเอียดดังนี้

  • การออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบรนด์หรือสัญลักษณ์ของชุมชน ภายใต้สโลแกนที่ว่า “บึงหล่มร่วมใจ อุ่นไอจากป้า ส่งต่อคุณค่า และความหวังดี” เป็นการเผยถึงลักษณะภายในชุมชนที่มีความร่วมมือร่วมใจ สามัคคี ในการพัฒนาชุมชน ให้มีรายได้และเศรษฐกิจภายในชุมชนอย่างยั่นยืน อีกทั้งมีบรรยายหรือส่วนผสมของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพริกแกง ที่มีรายละเอียดครบถ้วน มีระบุช่องทางในการติดต่อสั่งซื้อผ่านออนไลน์ การเก็บรักษา วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมส่งเสริมชุมชน
  • การพัฒนาขนาดบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากนิสิตของชมรม SIFE ได้มีการทำวิจัยทางการตลาดมาก่อนว่าได้แบ่งกลุ่มผู้บริโภคหรือลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ใช้เครื่องแกงในการประกอบอาหารปริมาณมากและเป็นประจำทุกวัน เช่น กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหารตามสั่ง ครอบครัวขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ใช้เครื่องแกงปริมาณน้อย เช่น ครอบครัวที่มีสมาชิกน้อย หรือคนโสด จึงได้พัฒนาแพคเกจออกมาหลายขนาด  ทั้งขนาด 1000 กรัม  500 กรัม และ 100 กรัม เป็นต้น ตลอดจนการจัดหาวัสดุที่นำมาใช้บรรจุเครื่องแกงก็ต้องมีความทนทาน ไม่เสียหายง่ายในระหว่างการขนส่งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การพัฒนาช่องทางการตลาดและการขนส่ง ปัจจุบันกลุ่มแปรรูปอาหารบ้านบึงหล่ม ได้ทำการตลาดแบบ word of mouth คือจำหน่ายกันเองภายในครัวเรือนของสมาชิกที่รู้จัก และตลาดนัดประจำอำเภอในพื้นที่ ดังนั้นทางชมรม SIFE ภายใต้การนำของอาจารย์และนิสิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาแนะนำในการทำการตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโซเชี่ยลช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งการ Live ขายของผ่านช่องทาง Facebook และการทำคลิปวีดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ขายผ่านช่องทาง Tiktok เป็นต้น ตลอดจนการขนส่งได้มีการแนะนำช่องทางในการขนส่งกับบริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน มีการติดตามใบส่งสินค้า เลขที่ใบส่งสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ถูกต้องสินค้าไม่เสียหายหรือชำรุด

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณธงชัย ธรรมสุคติ ที่ปรึกษาด้านมวลชนสัมพันธ์ บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

โรงงานเริ่มดำเนินการด้านมวลชนสัมพันธ์กับชุมชนตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตคือต้นอ้อยจากชาวบ้านในชุมชนบริเวณรอบโรงงานเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล โดยจะเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยที่ไม่ได้ผ่านการเผาแต่ใช้รถตัดอ้อย ซึ่งในกระบวนการนี้มีทั้งให้สินเชื่อชาวบ้านในชุมชนสำหรับการซื้อรถตัดอ้อย หรือให้ชาวบ้านในชุมชนเช่ารถตัดอ้อยของโรงงานในราคาที่ถูก ด้วยลักษณะของโรงงานเราเป็น

พื้นที่เปิด ดังนั้นเมื่อถึงฤดูกาลหีบอ้อยก็จะมีเรื่องของฝุ่น เรื่องอ้อยตกบริเวณถนน ทางโรงงานจึงร่วมมือกับสมาคมไร่อ้อย และชุมชนบริเวณพื้นที่โดยรอบในการจัดการฝุ่นและทำความสะอาดพื้นที่ถนน โดยแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบร่วมกัน สำหรับในกระบวนการผลิตนอกจากการเอาอ้อยมาหีบ จะมีการนำกากอ้อย และใบอ้อย เศษขี้เถ้า หรือเศษวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากการผลิต โดยส่วนนึงขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และอีกส่วนนึงนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน สำหรับส่วนที่เหลือคือบริจาคให้กับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานเพื่อนำใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหรือปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้แล้วโรงงานยังส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพ โดยพนักงานในโรงงานของเราจะเป็นคนในพื้นที่ประมาณ 80% ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะมีความรู้สึกผูกพันและมีความเป็นเจ้าของร่วมด้วยกับโรงงาน  โรงงานมีแนวความคิด 3 หลัก ในการอยู่ร่วมกับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานร่วมอยู่ โดยโรงงานถือคติว่าโรงงานกับชุมชนอยู่กันแบบเป็นครอบครัวเดียวกัน ดังนี้

  • หากมีงานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน ทางโรงงานก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป เช่นเข้าไปร่วมอำนวยความสะดวกในการจัดกิจจกรรม หรือการบริจาคน้ำ บริจาคเต้นท์ 
  • ร่วมกันแก้ไข นอกจากจะเป็นครอบครัวเดียวกับชุมชนแล้ว หากชุมชนมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำการเกษตร เช่นชาวบ้านมีปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร มีวัชพืชเข้าไปอุดตันทางเดินน้ำทำให้น้ำระบายไม่ได้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางโรงงานก็เข้าไปช่วยแก้ไขโดยการนำรถแบ็คโฮของโรงงานเข้าไปตักวัชพืชที่อุดตันทางเดินน้ำออก
  • ร่วมกันพัฒนา คือการร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณชุมชน เช่นโรงเรียนต้องการปรับปรุงห้องน้ำหรือห้องประชุมของโรงเรียน ทางโรงงานก็เข้าร่วมโดยการจัดทำผ้าป่าโรงเรียน เป็นการระดมทุนระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในชุมชน และโรงงานทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียน หรือหากชาวบ้านในชุมชนต้องการมีความรู้ในเรื่องพื้นฐานทางด้านงานช่าง หรือการประกอบอาชีพ ทางโรงงานก็จะส่งบุคลากร วิทยากร หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เข้าไปสอน

ด้านประธานกลุ่ม ผู้ใหญ่สมจิตร ชมดี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

รู้สึกขอบคุณทุกท่านที่ได้จัดโครงการดี ๆ แบบนี้มาพัฒนาชุมชนของเรา ซึ่งจากสิ่งที่ได้รับในครั้งนี้คือการได้พัฒนาในเรื่องการจัดทำบัญชีรายรับจ่ายของชุมชน การทำการตลาด การตั้งราคาผลิตภัณฑ์ การทำบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การขนส่ง การติดตามใบส่งสินค้า เลขที่ส่งสินค้า ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ถูกต้อง ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นนำรายได้มาสู่ชุมชน ทั้งจากลูกค้าเก่าที่ซื้อตลอด และลูกค้าใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ใหญ่สมจิตร กล่าว

จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้โดย โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม, บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดยกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมนุม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม จังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ 2 นี้ นับเป็นการต่อยอดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อันนำไปสู่เป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” ซึ่งเป็นพันธกิจของไทยเบฟ ที่ เชื่อมันว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เป็นการสร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ข่าวล่าสุด