Tuesday, 31 December 2024 - 12 : 55 am
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Tuesday, 31 December 2024 - 12 : 55 am

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานและเปิดการเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานและเปิดการเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 (The 1st INTERNATIONAL AGRICULTURAL FORUM) ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ  

การเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2567 ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยจัดขึ้นในดำริของมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี  วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ  และ Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center (Bangkok) เป็นผู้รับปฏิบัติ พร้อมกับอีก 7 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิ  กสิกรไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยงานนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 คน จากกว่า 10 ประเทศ ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรวิชาการและการวิจัย การเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร มาใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การฟื้นคืนป่าต้นน้ำอันมีค่าของประเทศและของโลก

ทั้งนี้ การเสวนาการเกษตรนานาชาติครั้งที่ 1 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมของประเทศไทย ผ่านนวัตกรรม และการวางรากฐานสำหรับอนาคต โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของภาคเหนือในเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็น “ประตูของระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)” ให้เกิดความร่วมมือของอนุภูมิภาค ในการเข้าถึงตลาดใหม่สำหรับความร่วมมือทางการเกษตร และยกระดับการเกษตรอย่างยั่งยืน

ในการนี้ประธานร่วมในการจัดงาน รศ.ดร.พระชยานันทมุนี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ และนายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จฯ

นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และ นายบัณฑูร ล่ำซำ กราบบังคมทูลรายงาน จากนั้นนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ขึ้นบรรยายถึงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการรักษ์ป่าน่าน และเมื่อการบรรยายสิ้นสุดลง เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงที่จะร่วมช่วยกันผลักดันให้การจัดงานบรรลุวัตถุประสงค์ ทาง Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center (Bangkok) โดย ดร. เจียง เปียว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องจักรเพื่อการแปรรูปพืชยา มูลค่า 15 ล้านบาท อันเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตยาจากพืช ที่จะนำไปสู่การคืนป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านสืบไป  

และในลำดับสุดท้าย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชดำรัสเปิดงานการเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องประชุมวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อทอดพระเนตรการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมทางการเกษตรสมทบ พร้อมทั้งสินค้าท้องถิ่นจังหวัดน่าน

สำหรับภาพรวมกิจกรรมที่น่าสนใจส่วนอื่น ๆ ภายใต้การเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2567 ณ  วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ประกอบด้วย พิธีลงนามความร่วมมือปฏิญญาน่าน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดน่านที่มีการลงนามระหว่างหน่วยงานพันธมิตรจากประเทศไทยและจีน มากกว่า 12 องค์กร ในการร่วมกันช่วยพัฒนาและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรของน่านเพื่อการคืนป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน การบรรยายและเสวนาร่วม 13 หัวข้อ ภายใต้แนวคิด การพัฒนาระดับภูมิภาคในยุคใหม่ที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและการเกษตรที่ยั่งยืน “Neo-Regional Development on Biodiversity and Agricultural Sustainability” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองประเด็นต่าง ๆ และการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมทางการเกษตรสมทบ พร้อมทั้งสินค้าท้องถิ่นจังหวัดน่าน จำนวนมากกว่า 80 ราย ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจเข้ารับฟังการสัมมนาและเลือกซื้อสินค้าได้ตลอดงาน

ข่าวล่าสุด