การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมากว่า 51 ปี ปัจจุบันได้รับนโยบายจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในการขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นรูปธรรม ภายใต้แนวคิด “แม่นยำ รวดเร็ว สร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้มอบนโยบายให้การเคหะแห่งชาติเร่งดำเนินงานตามนโยบาย รมว.พม. เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้มอบให้การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตอบโจทย์ความท้าทายของคนทำงานรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการสร้างความอบอุ่นให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว และสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่ม Gen Z เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของบ้านและสังคมในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีครอบคลุมทุกมิติ
จากนโยบายดังกล่าวของ รมว.พม. คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้เร่งให้การเคหะแห่งชาติขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ขององค์กรคือ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิติที่ดี” ภายใต้แนวคิด บ้านดี โดยให้เป็นบ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย และทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการออกแบบเชิงอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และการออกแบบที่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) ชุมชนดี เป็นชุมชนที่น่าอยู่สำหรับคนทุกช่วงวัย เป็นพื้นที่ความสุขของทุกคน เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีความมั่นคงในอาชีพที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจครอบครัวและชุมชนเติบโต นำไปสู่ สังคมดี ผู้อยู่อาศัยทุกคนดำรงชีวิตในชุมชนของการเคหะแห่งชาติอย่างมีความสุขและยั่งยืน
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงผลการดำเนินงานช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาใน 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) ว่า การเคหะแห่งชาติสามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้แล้ว จำนวน 2,748 หน่วย สามารถทำสัญญาเช่าโครงการอาคารเช่าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้กับกลุ่ม First Jobber จำนวน 213 หน่วย และก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จ จำนวน 975 หน่วย (รวมโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 จำนวน 612 หน่วย) และเมื่อเร็ว ๆ นี้การเคหะแห่งชาติยังได้ส่งมอบโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนเชิงสังคม จังหวัดสุพรรณบุรี (อู่ยา 1) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการพักอาศัยอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้อยู่อาศัยในโครงการฯ โดยนำเกณฑ์ประเมินโครงการชุมชนน่าอยู่น่าสบายอย่างยั่งยืน (Eco-Village) และหลักเกณฑ์ในการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน (Universal Design) มาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบวางผังโครงการและออกแบบอาคารอีกด้วย
ด้านการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well – being : SSC) โดยดำเนินการผ่าน 4 มิติ ทั้งในด้านการมีส่วนร่วม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม และยังได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ในการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงได้หารือการขับเคลื่อนกิจกรรมให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ อาทิ การอบรมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพืชใช้แล้ว และการอบรมอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) โดยมีค่า AQI เฉลี่ยถึง 200 การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับกับภาวะวิกฤตของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยอาศัยคณะกรรมการชุมชนเป็นสื่อกลางทำความเข้าใจกับผู้อยู่อาศัยในชุมชน ซึ่งจากการดำเนินงานต่าง ๆ หากชุมชนใดสามารถดำเนินงานได้ครบทั้ง 4 มิติ และผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ชุมชนจะถูกยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการเคหะแห่งชาติและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่การเคหะแห่งชาติต่อไป
“จากการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ คณะกรรมการฯ ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องการบูรณการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรทั้งเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติและผู้นำชุมชน ที่จะขับเคลื่อนให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิติที่ดี”” นายทวีพงษ์ กล่าวในที่สุด