- หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาที่ 400 บาทต่อวัน ตามข้อเสนอและเงื่อนไขที่กำหนดของคณะกรรมการค่าจ้าง แม้น่าจะมีผลไม่มากต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรม เนื่องจากจำนวนโรงแรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีไม่ถึง 5% ของโรงแรมจดทะเบียนทั่วประเทศ
- แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นทุนของผู้ประกอบการจะปรับสูงขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของแรงงานที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันในสัดส่วนสูง และอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวไม่สูง ธุรกิจขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยว และราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนไม่สูง
- ทั้งนี้ คงต้องติดตามมติคณะรัฐมนตรีต่อข้อสรุปประเด็นนี้ รวมถึงภาครัฐจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากหรือไม่
หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะกิจการโรงแรมในพื้นที่ที่กำหนด และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 แม้น่าจะมีผลกระทบต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมไม่มาก เนื่องจาก
- เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะในพื้นที่ที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด (กำหนดพื้นที่) เฉพาะกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และจ้างงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยต้องติดตามความชัดเจนเรื่องนิยามของกลุ่มโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปอีกครั้ง ขณะที่ จากการรวบรวมข้อมูลสถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่ที่กำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเบื้องต้น พบว่า จำนวนสถานประกอบการโรงแรมกลุ่ม 4 ดาวขึ้นไป (โรงแรมที่นิยามการให้บริการแบบ 4 ดาว และ
แบรนด์เซ็กเม้นต์) มีประมาณ 770 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของจำนวนสถานประกอบการโรงแรมและที่พักทั่วประเทศ[1] ซึ่งโรงแรมกลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมและมีปริมาณนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวสูงอย่างภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา (ชลบุรี) และสมุย (สุราษฎร์ธานี)
- ปัจจุบันโรงแรมหลายแห่งมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยจำนวนแรงงานยังไม่กลับเข้ามาในระบบอย่างเต็มที่หลังถูกกระทบจากวิกฤตโควิด โดยเฉพาะโรงแรมในพื้นที่ภูเก็ต กรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากและบางพื้นที่มีจำนวนมากกว่าปี 2562 ทำให้ผู้ประกอบการบางรายจ้างแรงงานสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว สะท้อนจากผลสำรวจค่าจ้างแรงงานรายวันในธุรกิจโรงแรมที่มีการประกาศรับสมัครตามสื่อออนไลน์ พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 บาทขึ้นไป (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ข้อเสนอจากคณะกรรมการค่าจ้างต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวันในกิจการโรงแรมในพื้นที่ 10 จังหวัด
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมีสัดส่วนของแรงงานที่ปัจจุบันได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันเท่าใด รวมถึงอยู่ในพื้นที่ใด เพราะแต่ละพื้นที่จะมีสถานการณ์ของจำนวนนักท่องเที่ยวและฤดูกาลท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกัน
- กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากโรงแรมกลุ่มนี้มีสัดส่วนการจ้างแรงงานรายวันไม่สูง จากการจ้างแรงงานที่มีทักษะในการให้บริการ ทำให้มีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและอาจสูงกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว นอกจากนี้ โรงแรมกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะและปริมาณนักท่องเที่ยวมาก ค่าบริการห้องพักต่อคืนสูง ทำให้มีมาร์จิ้นและความยืดหยุ่นในการทำตลาดค่อนข้างสูง
- กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมระดับ 4 ดาว จะได้รับผลกระทบที่มากกว่าด้วยโรงแรมที่มีจำนวนมาก ต้นทุนและการแข่งขันสูง ขณะที่ราคาห้องพักต่อคืนไม่ได้อยู่ในระดับพรีเมี่ยม
กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบปานกลาง อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา (ชลบุรี) จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง แต่เนื่องจากรายได้ธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวสูงและขึ้นกับฤดูกาลท่องเที่ยวต่ำ ทำให้ธุรกิจน่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนส่วนเพิ่มนี้ได้ โดยกำหนดให้ต้นทุนอื่นๆ คงที่
กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เช่น ในพื้นที่สงขลา เป็นต้น จะมีต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราสูง โดยเฉพาะหากเป็นโรงแรมที่ปัจจุบันมีสัดส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันในสัดส่วนสูง ขณะเดียวกัน ปริมาณนักท่องเที่ยวไม่สูงเมื่อเทียบกับจังหวัดท่องเที่ยวหลัก การเดินทางขึ้นอยู่กับฤดูกาลท่องเที่ยวสูง จำนวนวันพักเฉลี่ยต่ำ และราคาเฉลี่ยที่พักต่อคืนไม่สูง (ประมาณ 3,000 บาทต่อคืน และอาจต่ำกว่าในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว) ทำให้ธุรกิจจะมีมาร์จิ้นและความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่ต่ำ
ทั้งนี้ คงต้องติดตามมติคณะรัฐมนตรีว่าจะได้ข้อสรุปต่อประเด็นนี้อย่างไร รวมถึงภาครัฐจะมีแนวทางบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงแรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากหรือไม่ เนื่องจากหากบังคับใช้วันที่ 13 เมษายนนี้ ผู้ประกอบการก็จะเหลือเวลาในการเตรียมตัวด้านสภาพคล่องอีกไม่มากแล้ว
[1] นับโรงแรมและที่พักที่จดทะเบียน