- ปี 2567 รายได้ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรายได้หลักจากการขายรถมีโอกาสจะหดตัวค่อนข้างมาก นำโดยยอดขายรถปิกอัพที่ลดลง ตามด้วยรถยนต์นั่งใช้น้ำมันที่ดีลเลอร์อาจต้องเผชิญยอดขายที่ลดลงหลังต้องแข่งขันกับรถยนต์ BEV มากขึ้น
- กลุ่มดีลเลอร์ค่ายรถที่มี Market Share ต่ำในตลาดอาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มที่มี Market Share สูง ซึ่งการปรับตัวนอกจากเพิ่มรายได้การซ่อมบำรุงแล้ว คือการหันทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ BEV
รายได้ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์พึ่งพิงรายได้หลักจากการขายรถยนต์ถึงราว 90% ขณะที่รายได้เสริมจากธุรกิจซ่อมบำรุงอยู่ที่ราว 10% ดังนั้น ทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศจึงมีผลโดยตรงอย่างมากต่อทิศทางรายได้รวมของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ และในปี 2567 นี้ จากทิศทางยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เริ่มบ่งชี้ให้เห็นว่าน่าจะหดตัว ประกอบกับค่ายรถหันใช้กลยุทธ์แข่งขันกันด้านราคาด้วยการปรับ สเปกและราคาของรถยนต์ใหม่ลง จึงมีโอกาสที่ดีลเลอร์จะทำรายได้หลักจากการขายรถยนต์ลดลง ซึ่งก็จะทำให้รายได้รวมของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ในปีนี้อาจหดตัวลงตามไปได้ถึงประมาณ 15% (รูปที่ 1)
แม้จะมีรายได้เสริมที่เร่งขึ้นหลังแต่ละดีลเลอร์พยายามเพิ่มรายได้จากการซ่อมบำรุงเพื่อช่วยประคองรายได้รวมแล้วก็ตาม
ยอดขายรถยนต์รวมปี 2567 ที่หดตัวลง ซึ่งนำมาสู่รายได้หลักที่ลดลงของดีลเลอร์ดังกล่าว มาจากการที่รถปิกอัพน่าจะขายได้น้อยลงมากต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อันจะส่งผลให้สัดส่วนยอดขายรถปิกอัพในปีนี้น่าจะลดเหลือเพียง 31% ของยอดขายรถยนต์รวมในประเทศ ปรับลงต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 46% ในปี 2565 (รูปที่ 2)
โดยปัจจัยลบหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตของตลาดรถปิกอัพไทยในปีนี้มาจาก แนวทางการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ระมัดระวังขึ้นมาก หลังต้องเผชิญกับการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลักของรถปิกอัพที่เป็นกลุ่มเกษตรกร และธุรกิจ SME ที่มีรายได้ไม่แน่นอน
ส่วนรถยนต์นั่ง แม้ยอดขายจะมีโอกาสหดตัวเล็กน้อย จึงไม่มีผลทำให้รายได้หลักจากการขายรถยนต์ของดีลเลอร์ลดลงมากเท่ารถปิกอัพ แต่กลับพบความท้าทายที่ต้องเผชิญเช่นกัน เมื่อดีลเลอร์รถยนต์นั่งใช้น้ำมันอาจทำยอดขายได้น้อยลง เพราะต้องแข่งขันกับรถยนต์ BEV ที่กำลังขยายตัวสูงขึ้นในประเทศ จากสัดส่วนเพียง 4% ของยอดขายรถยนต์นั่งรวมในปี 2565 จนในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมาอยู่ที่ระดับ 27% (รูปที่ 3) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวย่อมมีผลโดยตรงทำให้รายได้หลักจากการขายรถยนต์ของดีลเลอร์ที่ขายรถยนต์นั่งใช้น้ำมันลดลงพอสมควร
สุดท้ายแล้ว แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสินเชื่อและการมาของ BEV จะทำให้รายได้รวมของดีลเลอร์รถยนต์ปรับลดลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ความรุนแรงของสถานการณ์ที่แต่ละดีลเลอร์เผชิญอาจต่างกัน ซึ่งหลักๆแล้วกลุ่มรถยนต์ใช้น้ำมันจะได้รับผลกระทบมากสุด โดยเฉพาะดีลเลอร์ค่ายรถที่มี Market Share ต่ำอยู่แล้วจากความนิยมที่น้อยกว่า จะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ใช้น้ำมันใหม่ต่อดีลเลอร์ของกลุ่มค่ายรถ Market Share ต่ำอาจจะลดต่ำลงได้ถึง 30% ขณะที่กลุ่มค่ายรถ Market Share สูงอาจลดลงน้อยกว่าที่ประมาณ 14%
ในสถานการณ์ที่รายได้หลักจากการขายปรับลดลงเช่นนี้ การเพิ่มรายได้เสริมจากการซ่อมบำรุงจึงเป็นหนึ่งในแนวทางหลักแรกๆที่ดีลเลอร์รถยนต์เลือกใช้ประคองรายได้รวมอยู่ แต่ในอนาคตข้างหน้าที่มีปัจจัยลบรอจะกดดันรายได้เสริมอยู่ โดยเฉพาะเมื่อจำนวนรถยนต์ใช้น้ำมันที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในการเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ
ส่วนการซ่อมบำรุงรถยนต์ BEV ที่แม้จะมีจำนวนรถเพิ่มขึ้นแต่การเข้าใช้บริการซ่อมบำรุงก็ลดน้อยลงมาก ทำให้รายได้เสริมจากการซ่อมบำรุงไม่อาจเป็นแนวทางประคองธุรกิจในระยะยาวได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ที่มี Market share ต่ำ ซึ่งจากทิศทางดังกล่าวนี้ เราอาจได้เห็นภาพการปรับตัวของธุรกิจไปสู่การลงทุนทำดีลเลอร์รถยนต์ BEV มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต