จีนปรับลดดอกเบี้ย LPR-5 ปี มากสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์
- จีนปรับลดดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีประเภท 5 ปี (5 Year – Loan Prime Rate) หรือดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 0.25% จาก 4.20% มาอยู่ที่ 3.95% โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่เริ่มมีการใช้ LPR 5 ปี การปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ที่ครั้งละ 0.05-0.15% ซึ่งการปรับลดรอบหลังสุดในเดือน มิ.ย. 2566 จากระดับ 4.30% มาอยู่ที่ 4.20% ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเดิม และกระตุ้นให้เกิดการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ถือเป็นมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทั้งนี้จีนยังคงอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีประเภท 1 ปี (1 Year – Loan Prime Rate) ไว้ที่ 3.45% ตามเดิม
- หลังจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 20 ก.พ. 2567 ตลาดหุ้นจีน (ดัชนี CSI300) ปิดตลาดขยับเพียงเล็กน้อยที่ +0.2% ขณะที่ค่าเงินหยวนปิดตลาดที่ 7.1925 แทบไม่เปลี่ยนแปลงจาก 7.1981 ในวันที่ 19 ก.พ. 2567
- การปรับลดดอกเบี้ยของจีนน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ค่อนข้างจำกัด หลังจีนมีนโยบายสามเส้นแดง (Three Red Line) อัตราดอกเบี้ย 5 Year LPR ได้ปรับลดลงทั้งหมด 45 bps (ไม่รวมการปรับลดครั้งล่าสุด) แต่ยอดขายบ้านใหม่จีนของ 100 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังหดตัว
- ปัญหาสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์คือความเชื่อมั่นที่ลดลง ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และปัญหาโครงการบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีทางการจีนได้ออกมีมาตรการเข้ามาช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ฝั่งอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนความกังวลในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
- มาตรการทางฝั่งอุปสงค์: ในเมืองซูโจวและนครเซี่ยงไฮ้ได้มีการผ่อนปรนข้อจำกัดซื้อบ้าน และล่าสุดมณฑลไห่หนานได้ปรับลดอัตราส่วนเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านหลังแรก
- มาตรการในฝั่งอุปทาน: ธนาคารใหญ่ของจีนได้เริ่มการพิจารณาวงเงินกู้จัดสรรให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ (Whitelist) ซึ่งยังคงติดตามความคืบหน้าต่างๆ ต่อไป
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2567 จีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก ท่ามกลางประเด็นอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้น ทำให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมยังมีความจำเป็น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลง ช่วยลดแรงกดดันส่วนต่างดอกเบี้ยและการไหลออกของเงินทุนจากจีน ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การปรับลด RRR ที่สามารถทำได้เพิ่มเติม
- ติดตามเป้าหมายตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนและทิศทางการดำเนินนโยบายได้ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนในเดือน มี.ค. 2567 ที่จะถึงนี้