ดัชนี KR-ECI เดือน ม.ค. 67 ทรงตัว ครัวเรือนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน
- ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนม.ค.67 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 38.8 จาก 38.7 ในเดือนธ.ค.66 เช่นเดียวกับดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้าก็ทรงตัวเช่นกันที่ 40.5 โดยเป็นการทรงตัวสองเดือนติดต่อกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ดัชนีฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในเดือนม.ค.67 เกือบทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ยกเว้น ด้านราคาสินค้าที่ครัวเรือนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่ทยอยลดลง เช่น ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน
- นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้สอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการรับมือต่อสถานการณ์ที่ต้นทุนการครองชีพยังอยู่ในระดับสูง อาทิ ค่าพลังงาน รวมถึงภาระหนี้ที่ยังไม่ลดลง โดยพบว่า ครัวเรือนเลือกที่จะงดใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยมากที่สุด (34.3%) ต่อมาเป็นการชะลอการก่อหนี้เพิ่มขึ้น (24.6%) และการวางแผนใช้จ่ายให้ตรงกับช่วงมาตรการรัฐ (23.4%) อีกทั้ง ยังมีแนวทางการรับมืออื่น ๆ ได้แก่ การหารายได้/ทำงานเพิ่มเติม และการนำเงินออมมาใช้
- อีกทั้ง เมื่อสอบถามครัวเรือนถึงมุมมองที่มีต่อทิศทางรายได้ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (59.7%) มีมุมมองว่า รายได้ไม่ต่างจากเดิมนัก รองลงมา (21.9%) มองว่า รายได้อาจลดลงจากความไม่แน่นอน อาทิ ภัยแล้ง และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และส่วนที่เหลือมองว่า รายได้อาจเพิ่มขึ้นตามนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง/เงินเดือนของภาครัฐ หรือสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
- ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 ดัชนีฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงต้นปี เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี 2567 (Easy e-Receipt) รวมถึงมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานภายในประเทศที่ส่วนใหญ่ยังมีอยู่จนถึงเดือนมี.ค.67 ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลแดงที่อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก
- ขณะที่แนวโน้มดัชนีฯ ในปี 2567 ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดมากขึ้น สะท้อนผ่านโมเมนตัมการฟื้นตัวของดัชนีฯ ที่เริ่มทรงตัว ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวตามภาคท่องเที่ยวและการส่งออก แต่การฟื้นตัวของดัชนีฯ อยู่ภายใต้ปัจจัยกดดันมากขึ้น ได้แก่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง และสภาพอากาศที่แปรปรวนที่อาจกระทบต่อผลผลิตและรายได้ทางการเกษตร รวมถึงแนวโน้มการอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐที่ลดลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 มีแนวโน้มที่จะล่าช้าออกไป