Sunday, 22 December 2024 - 10 : 29 pm
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Sunday, 22 December 2024 - 10 : 29 pm

ธ.ก.ส. จับมือ กยท. เติมความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

ธ.ก.ส. ร่วมกับ กยท. เสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตให้กับชุมชนและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราพร้อมส่งเสริมการใช้ต้นยางเป็นหลักประกันเงินกู้ผ่านการจัดทำโฉนดต้นไม้ยางพารา และมุ่งสู่ความยั่งยืนด้วยการขับเคลื่อนโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

วันนี้ (12 มกราคม 2567) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ “การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพาราและการจัดทำโฉนดต้นยางพารา” ระหว่าง   นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และ นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสวนยางพารา พร้อมส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพารา การจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อเป็นเอกสารรับรองการปลูกต้นยางพาราในพื้นที่ของเกษตรกร ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ต้นยางพาราเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การบรรลุบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065 โดยตั้งเป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์กว่า 1,121,756 ราย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า การร่วมมือกับ กยท. ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและ ธ.ก.ส. อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและบุคลากรของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำนวัตกรรมไปพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต การส่งเสริมการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ กยท. พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจสีเขียวตามนโยบายด้านการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำสวนยางพาราไปขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาค   สมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) รวมถึงเข้าร่วมโครงการ BAAC Carbon Credit ที่จะช่วยสร้างอาชีพเสริมและสร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. เตรียมเปิดตัวการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า กยท. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส. บรรจุต้นยางพาราให้เป็นไม้ชนิดหนึ่งในระบบค้ำประกันเงินกู้ เพื่อดำเนินการจัดทำโฉนดต้นยางพาราเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. เกษตรกรที่สามารถขอรับโฉนดต้นยางจะต้องขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีสวนยางตั้งอยู่บนดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง โดยใช้โฉนดต้นยางพาราเป็นเอกสารประกอบการขอรับบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ให้บริการ โดย กยท. จะเป็นผู้ประเมินราคาต้นยางพาราที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. และจัดทำโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อของ ธ.ก.ส.  ทุกครั้ง ซึ่ง กยท. และ ธ.ก.ส. จะมีการจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั่วประเทศให้มีความรู้ในการประเมินมูลค่าไม้ยางพารา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันประเมินมูลค่าไม้ยางพารา สำหรับใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ และจะร่วมกันบูรณาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยาง ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกสร้างสมดุลเชิงนิเวศ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการขายผลผลิตจากยางพาราเพียงอย่างเดียว

ข่าวล่าสุด