
เอสซีจี ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคกลาง เปิดโรงงานบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ใน SCGP ผู้ให้บริการด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ให้ผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี นครปฐม กว่า 80 คน ในโครงการ “Go Together เติบโตด้วยกัน สู่โลกยั่งยืน” ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้รับเกียรติจากนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง เข้าร่วมเยี่ยมชมกิจการ โดยมี นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี นายศาณิต เกษสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการ Go Together นายภัควัต ภาษีผล Banpong Mill Director บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ใน SCGP และนายสุนทร ยงค์วิบูลศิริ ESG and Sustainability Director, SCGP พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ SCGP โรงงานบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

นายชนะ ภูมี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Inclusive Green Growth ที่มุ่งช่วยยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ด้วยการศึกษาจากตัวอย่างที่ เอสซีจีทำมาแล้ว และนำมาต่อยอดใช้ได้เลย การเปิดบ้านหรือโรงงานทั่วประเทศให้ SMEs มาดู เพื่อให้เห็นว่าโครงการอะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ในการลดคาร์บอน และยังช่วยลดต้นทุนได้อีก ซึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องการใช้เงินลงทุนของ SMEs”

นายสุนทร ยงค์วิบูลศิริ กล่าวว่า “SCGP มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1) การใช้พลังงานเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ Biomass และวัสดุเหลือใช้จากการผลิต 2) ใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ใช้พลังงานลดลง และ 3) ใช้วัตถุดิบมาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย”
ในครั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ลงพื้นที่ศึกษาหน้างานจริง และเรียนรู้แนวทางบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของ SCGP เช่น แนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การประยุกต์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีและ AI สำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และตัวอย่างโซลูชันที่ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดใช้งานได้ อาทิ

- กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุจากกระบวนการผลิตกระดาษ
- หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์โดยอัตโนมัติ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มประสิทธิภาพให้แผงโซลาร์
- สินค้าคาร์บอนต่ำ เช่น สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ ย่อยสลายเองได้ ที่เป็นประโยชน์สำหรับ SME สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้าได้

โครงการ Go Together มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมศึกษากระบวนการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันของอุตสาหกรรมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย ช่วยผลักดันเงินทุนสนับสนุน Green Finance ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน