Thursday, 26 December 2024 - 1 : 43 pm
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Thursday, 26 December 2024 - 1 : 43 pm

ดร.วิภารัตน์ ผอ.วช. กระชับความร่วมมือไทย-จีน ระหว่าง วช. กับ CASS ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมภายใต้ศูนย์วิจัยจีน และร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษด้านการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคจีน-อาเซียน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ระหว่างไทย-จีน กับสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 เพื่อผลักดันความร่วมมือเชิงรุกด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมีแนวทางความร่วมมือ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนนักวิจัย การทำวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนงานวิชาการ และมีกำหนดจัดการสัมมนาวิชาการร่วมกันทุกปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนทัศนะ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับไทย–จีน และสานต่อองค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย–จีน ต่อมา วช. และ CASS ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดตั้งศูนย์วิจัยจีน CASS-NRCT CCS เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความร่วมมือทางวิชาการ และส่งเสริมงานวิจัยระหว่างไทย-จีน ให้เกิดผลเด่นชัด และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการและกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักวิจัยและนักวิชาการของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งได้จัดพิธีเปิดศูนย์วิจัยจีนฯ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ณ วช. ประเทศไทย

ด้วยความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีอย่างต่อเนื่องระหว่าง วช. กับ CASS ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้แทน วช. ได้รับเชิญ ให้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง วันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2567 เพื่อเข้าร่วมหารือกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยจีน CASS-NRCT CCS และเข้าร่วม การสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Dialogue on Peace and Development in Asia-Pacific (2024)” โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง และคณะผู้บริหาร วช. เข้าร่วมพบปะหารือกับ Professor WANG Changlin รองประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) เพื่อหารือเชิงนโยบายความร่วมมือไทย-จีน และแลกเปลี่ยนมุมมองการสร้างศักยภาพการวิจัยของนักวิจัยทั้งสองประเทศในมิติ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่มีมา อย่างยาวนาน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ณ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ต่อมา ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง และคณะผู้บริหาร วช. ร่วมหารือกับสถาบันวิจัยกลยุทธ์ระหว่างประเทศแห่งชาติ (National Institute of International Strategy, NIIS) ภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์จีน Chinese Academy of Social Sciences, CASS นำโดย Professor LI Xiangyang ผู้อำนวยการสถาบัน NIIS และบุคลากรของ NIIS

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง และ Professor LI Xiangyang ได้ร่วมกันกล่าวถึง ประเด็นเนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี ความร่วมมือของ วช. และ CASS จะมีการสานต่องานอย่างเข้มแข็ง โดยความร่วมมือในการร่วมจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน CASS-NRCT CCS” ประจำประเทศไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง วช. กับ CASS ซึ่งให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยน นักวิจัยรุ่นเยาว์ระหว่างไทย-จีน มีการเตรียมแผนงานโครงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในประเด็นเร่งด่วน รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งของบันทึกข้อตกลง (MOU) ผ่านกลไกการทำงานในประเด็นอาเซียน-จีน และการพัฒนาโครงการนำร่องร่วมกัน

พร้อมกันนี้ Professor LI Xiangyang ผู้อำนวยการ NIIS, CASS ได้เรียนเชิญ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Dialogue on Peace and Development in Asia-Pacific (2024)” ในหัวข้อ “การเสริมสร้างวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างจีน-อาเซียน” (Strengthen the Culture and Social Relationship between China-ASEAN) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ณ Beijing International Hotel กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาและความร่วมมือในภูมิภาคจีน-อาเซียน ต้องอาศัยศิลปะ และวัฒนธรรมเป็นสะพานข้ามพรมแดน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม สร้างความไว้วางใจ ความเคารพซึ่งกันและกัน และบทบาทของประเทศไทยโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการเสริมสร้างทักษะของบุคลากรในอาเซียน ภายใต้โปรแกรม ASEAN Talent Mobility (ATM) โดยมีวิสัยทัศน์และมุมมองในการพัฒนาทักษะขั้นสูง ของบุคลากรในอาเซียน ผ่านประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรม การเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในอาเซียน

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือในระบบวิจัยโดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างไทย-จีน ต่อไป

ข่าวล่าสุด