Saturday, 21 December 2024 - 11 : 15 pm
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Saturday, 21 December 2024 - 11 : 15 pm

บพข. เปิดผลงานวิจัย 5 ปี พลิกโฉมการท่องเที่ยว – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับสู่ความยั่งยืน

บพข. เปิดผลงานการวิจัย 5 ปี ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมจับมือพันธมิตร 14 หน่วยงาน 4 กระทรวง ยกระดับสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสู่ Net Zero Tourism เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของไทย และก้าวไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ที่มั่นคงและยั่งยืน

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยในปี 2567 ประเทศไทยคว้าอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในโลก จากนิตยสาร CEOWORLD ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวในปี 2567 จะสร้างรายได้มากกว่า 2.75 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี โดยรายได้ส่วนนี้ยังกระจายไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ต่างจากภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นที่มักจะกระจุกตัวไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม จากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นกระแสที่ทุกฝ่ายต่างรณรงค์ต่อต้านสินค้า และบริการที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งในภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เร่งผลักดันการท่องเที่ยวสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการยกระดับการท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา บพข. ได้มุ่งมั่นส่งเสริมการวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนการส่งเสริมการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งในพื้นที่เมืองหลักของประเทศ รวมถึงเมืองน่าเที่ยวที่เต็มไปด้วยศักยภาพ เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงได้จัดงานสัมมนานำเสนอผลงานวิจัยเพื่อร่วมกันวางแผน ทิศทางงานวิจัยในอนาคต ภายใต้งาน “บพข. กับ 5 ปี แห่งการวิจัยเพื่อขับเคลื่อน รับมือ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” ร่วมรับฟังเสวนาการนำเสนอผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีบูธโชว์ผลผลิตที่ได้จากงานวิจัยจากนักวิจัยหลากหลายมหาวิทยาลัย และนิทรรศการให้ข้อมูลงานวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมพระศิวะ ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุม “ครึ่งทศวรรษ การวิจัยและพัฒนา : บพข.กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”โดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. คุณวลัยทิพย์ โชติวงศ์พิพัฒน์ รักษาการรองผู้อำนวยการ บพข. (ผู้แทน) และบรรยาย “5 ปี ความสำเร็จและทิศทางการวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.” โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยการ ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในเวทีโลก”

ขณะเดียวกัน ยังได้จัดเสวนา “การวิจัยสู่การใช้จริง : ส่งมอบองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” โดย รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ประธานผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มธรรมชาติ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มสุขภาพ รศ.รอ.ดร.ชูวิทย์ สุจฉายา ร.น. ประธานผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มนโยบาย ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ประธานผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์

รวมทั้งยังมีการร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของ 4 กระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / กระทรวงการต่างประเทศ จาก 14 หน่วยงาน ได้แก่ สกสว. / บพข. / ททท. / อพท. / สสปน. / อบก. / หอการค้าไทย / TEATA / กรมการท่องเที่ยว / กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม / ATTA / THA / TICA และร่วมรับฟังการแถลงข่าว “บพข. กับ 5 ปี แห่งการวิจัยเพื่อขับเคลื่อน รับมือ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย” โดยมีบุคคลสำคัญ 11 ท่าน ขึ้นเวทีแถลง ดำเนินรายการโดย ดร.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ปิดท้าย Section ช่วงเช้า ด้วยการเสวนาจากประธานผู้ทรงคุณวุฒิตามกลุ่มแผนงานของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “การวิจัยสู่การใช้จริง : ส่งมอบองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย”

สำหรับ ในช่วงบ่าย พบกับเวทีเสวนา 4 ประเด็นจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆและผู้ประกอบการที่ได้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริง ดังนี้

1) การเสวนา “การยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก” นำเสนอผลงานวิจัยของแผนงานยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ บพข. ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประกอบศิริ ภักดีพินิจ ผู้อำนวยการชุดแผนงาน

2) การเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มุ่งสู่ Net Zero Tourism” นำเสนอผลงานวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน

3) การเสวนา “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ: ก้าวสู่ Wellness Hub ด้วยพลังความร่วมมือ” นำเสนอผลงานวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดำเนินรายการโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล

4) การเสวนา “Researcher X Creativity” โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ” นำเสนอผลงานวิจัยของแผนงานการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการโดย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวปิดท้ายว่า “งานสัมมนา บพข. กับ 5 ปี แห่งการวิจัยเพื่อขับเคลื่อน รับมือ และพลิกโฉมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย และการเสวนาใน 4 เวทีหลัก ที่เข้มข้นในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแผนงานด้านการท่องเที่ยวในทุกด้านอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวได้อีกมหาศาลในอนาคต รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์มุ่งสู่ Net Zero ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้”

ข่าวล่าสุด