Monday, 23 December 2024 - 2 : 37 am
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Monday, 23 December 2024 - 2 : 37 am

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ประมวลผลประกอบการ ครึ่งปีแรก ปี 67 เปิด TOP 10 อสังหาฯ รายได้รวมกว่าแสนล้าน – เผย 6 หุ้นอสังหาฯ ปันผลโดดเด่น

บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ประมวลผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2567 พบว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนสูงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น แต่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยังคงสามารถขึ้นแท่นทำรายได้รวมได้สูงสุดอันดับ 1 ด้วยรายได้สูงสุดถึง 19,784 ล้านบาท รองลงมาตกเป็นของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)  ทำรายได้ไปถึง 17,845 ล้านบาท และ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ทำรายได้ 14,725 ล้านบาท ติดอันดับท็อป 3 ของตลาดเช่นกัน โดยรายได้รวมของ 10 บริษัทพบว่ามีรายได้รวมมากกว่า 103,184 ล้านบาท นอกจากนี้  ยังพบ 6 หุ้นอสังหาฯ “SIRI, SPALI, SC, PSH, QH, LPN” เตรียมจ่ายปันผลระหว่างกาล นำโดย SIRI ยีลด์สูงสุดที่ 4.4 % และการที่บริษัทเหล่านี้สามารถรักษาผลประกอบการได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวน สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ

นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกจะเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยลบหลายประการ ทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น การไม่ผ่อนคลายมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย และปัญหาหนี้ครัวเรือน  ซึ่งสอดคล้องกับทางสมาคมธนาคารไทยที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งยังคงเป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทย  อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯได้ในบางส่วน ประกอบกับตลาดอสังหาฯยังคงมีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดระดับลักซูรีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายยังคงสามารถรักษารายได้และกำไรได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาด”

สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง นายอนุกูล มองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการยังคงมองหาโอกาสในการแข่งขัน หาจุดแข็งของตัวเองเพื่อตอบสนอความต้องการของลูกค้า โดยบางกลุ่มมีการทำตลาดแบบกระจายหลากหลายเซกเมนต์  หรือมีการทำการตลาด เจาะกลุ่ม Niche Market มากขึ้น เช่น ที่อยู่อาศัยแบบ  Pet Friendly  กลุ่มแคมปัส  เป็นต้น  หรือเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลงทุนด้วยในช่วงนี้ เฉพาะตลาดให้เช่ากลับมาคึกคักด้วยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาของชาวต่างชาติ  อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายยังคงจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์  และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ รวบรวมผลผู้ประกอบการที่มีรายได้และกำไรมากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ 10  อันดับ ดังนี้  อันดับ 1 แสนสิริ ซึ่งมีรายได้มากถึง 19,784 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 2,702 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 7%  เอพี (ไทยแลนด์) ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยรายได้รวม 17,845 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 2,277 ล้านบาทซึ่งรายได้ส่วนใหญ่รับรู้ในช่วงไตรมาสที่ 2  อันดับที่ 3 คือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ตามมาด้วยศุภาลัย ซึ่งทั้ง 4 อันดับแรกมีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทขึ้นไปทุกราย และกำไรสุทธิก็มากกว่า 2,000 ล้านบาทขึ้นไปเช่นกัน  ตามมาด้วย พฤกษา,  เอสซี แอสเสท,  ออริจิ้น, แอสเซทไวส์, คิว เฮ้าส์  และอนันดา ตามลำดับ  

รวมทั้งมีการสำรวจ 6  หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ที่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ครึ่งปีแรก ปี 67 พบว่าแสนสิริยังคง โดดเด่นเป็นอันดับ 1 จ่ายปันผลหุ้นละ 0.07 บาท ยีลด์สูงถึง 4.40% รองลงมาศุภาลัย จ่ายปันผลหุ้นละ 0.60 บาท ยีลด์ 3.6% ตามมาด้วย เอสซี แอสเสท จ่ายปันผลหุ้นละ 0.05 บาท ยีลด์ 2.0%  พฤกษา จ่ายปันผลหุ้นละ 0.15 บาท คิว เฮ้าส์  จ่ายปันผลหุ้นละ 0.03 บาท และ เอลพีเอ็น จ่ายปันผลหุ้นละ 0.05 บาทโดยทั้ง  3 บริษัท  ยีลด์ 1.7.%  เท่ากัน   

“ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 คาดว่ามีแนวโน้มที่จะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวได้เล็กน้อยหลังจากที่หดตัวมาในช่วงก่อนหน้า  ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ และความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสสุดท้าย ยังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ย และการแข่งขันที่รุนแรงจากโปรโมชั่น  ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง หรือมีความต้องการเฉพาะ Niche Market มากขึ้น และเสริมแกร่งทางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”  นายอนุกูล กล่าวทิ้งท้าย

(*ข้อมูลที่พลัสฯ รวบรวมนำเสนอ ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567)

ข่าวล่าสุด