Sunday, 22 December 2024 - 5 : 52 pm
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
spot_img
Sunday, 22 December 2024 - 5 : 52 pm

บีซีพีจี จับมือ กสิกรไทย ออกหุ้นกู้ “บอนด์พลัสคาร์บอนเครดิต” ตัวแรกของไทยเพื่อการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตผ่านนวัตกรรมการระดมทุนโดยจัดจำหน่ายให้ผู้ลงทุนสถาบัน

บีซีพีจี จับมือ กสิกรไทย ออกหุ้นกู้ “บอนด์พลัสคาร์บอนเครดิต” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตผ่านนวัตกรรมการระดมทุน โดยจัดจำหน่ายให้ผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยมูลค่าบอนด์รวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และมีส่วนส่งเสริมการขายของหุ้นกู้ ที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกรับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ผ่านการรับรองจาก อบก. หรือเลือกรับใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) ซึ่งผ่านการรับรองตามมาตรฐาน I-REC

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี และ 5 ปี แก่ผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศ มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มีธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวมีความพิเศษ ที่นอกจากผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เหมือนหุ้นกู้โดยทั่วไปแล้ว ยังมีส่วนส่งเสริมการขายของหุ้นกู้ โดยสามารถเลือกรับเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พัฒนาขึ้น หรือเลือกรับเป็นใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (I-REC) ซึ่งผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ The International REC Standard Foundation (I-REC) หรือ International Tracking Standard Foundation (I-TRACK Foundation) ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถนำ Carbon Credit หรือใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวที่ได้รับจากบีซีพีจี ซึ่งผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำหรับการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาสภาพคล่องของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยอีกด้วย

นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในขณะที่โลกกำลังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น บีซีพีจีเองก็มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการบูรณการความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับนวัตกรรมทางการเงิน ธุรกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืน” ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท นอกจากนี้ บีซีพีจียังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ คาร์บอนเครดิตและมีแพลทฟอร์มที่สามารถคำนวณการปล่อยปริมาณ Carbon และซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกันในการแก้ปัญหาโลกร้อน สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันได้ตามความสมัครใจ การให้คาร์บอนเครดิตแก่ผู้ลงทุนในครั้งนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนชั้นนำของไทยเข้าใจเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครคิตในตลาดรองเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบัน บีซีพีจีได้บรรลุเป้าหมายหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในประเทศไทยตั้งแต่ในปี 2565 และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593

นางณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และรักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ขอแสดงความชื่นชมกับบีซีพีจี ธนาคารกสิกรไทยและผู้ลงทุนทุกท่านกับความสำเร็จของธุรกรรมและความคิดริเริ่มในการนำคาร์บอนเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ วัดได้จริง มีมาตรฐานจากการทำโครงการ T-VER และผ่านการรับรองจาก อบก. มาเป็นส่วนเพิ่มเติมให้กับผู้ลงทุน โดย อบก. ดำเนินการโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีของบีซีพีจีในฐานะผู้พัฒนาโครงการ ไปยังบัญชีของผู้ลงทุนจำนวนรวม 21,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อบก. เชื่อว่าธุรกรรมนี้จะเป็นแรงส่งทำภาคส่วนต่างๆ เห็นความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น และนำพาให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในไทย เห็นความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ อบก. ได้มีการผลักดันโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบัน มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER แล้ว 438 โครงการ ในจำนวนนี้มี 169 โครงการที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต และมี(คาร์บอนเครดิต)ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 19,537,269 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยตั้งแต่ปี 2559 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว 3,422,956 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 299 ล้านบาท อบก. เชื่อว่า นอกจากตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับชุมชน ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตรและครัวเรือน เป็นต้น

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญ อาทิ การเป็นธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ จากการดําเนินงานของธนาคารเป็นศูนย์ภายใน ปี พ.ศ. 2573 รวมถึงการให้บริการที่มากกว่าบริการทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย  โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ร่วมเสริมสร้างความยั่งยืนผ่านการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่ร่วมส่งเสริมการลดการปล่อย GHG ของประเทศไทยมาโดยตลอดทั้งในรูปแบบของการออกผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์การบริหารความเสี่ยงและบริการระดมทุนผ่านหุ้นกู้  สำหรับการเข้าร่วมเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและเป็นผู้ลงทุนหลัก (Cornerstone Investor) ของหุ้นกู้บีซีพีจีครั้งนี้ ได้ทำให้ธนาคารได้ก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญด้านความยั่งยืนอีกขั้น โดยสามารถเชิญชวนให้ผู้ลงทุนสถาบันต่างๆ เข้ามาเรียนรู้กระบวนการเปิดบัญชีคาร์บอนเครดิตกับทาง อบก. แบ่งปันความรู้ทางด้าน ESG รวมถึงการจัดการด้านการบัญชีและภาษีที่เกี่ยวข้องคาร์บอนเครดิตอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับคาร์บอนเครดิตที่ทางธนาคารได้รับธุรกรรมดังกล่าว จะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) ของธนาคารต่อไป

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เปิดเผยว่า กบข. ให้ความสำคัญกับการบูรณาการปัจจัยด้าน ESG เข้ามาในการดำเนินงานขององค์กรมาโดยตลอด และ กบข. ให้การสนับสนุนผู้ออกตราสารหนี้ ESG และนวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาดการเงินเสมอมา กบข. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการนำธุรกรรมการลงทุนในตลาดทุนและการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตมารวมกันไว้เป็นโครงการนวัตกรรมทางการเงินด้วยกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้ กบข. ยังได้นำคาร์บอนเครดิตที่ได้รับมาไปขายต่อในตลาดรองซึ่งเป็นการส่งเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยอีกด้วย

นายเสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) หนึ่งในกลุ่มไอซีบีซี ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า ธุรกรรมนี้ถือเป็นนวัตกรรมของตลาดตราสารหนี้และตลาดคาร์บอนเครดิต ไอซีบีซี (ไทย) พร้อมสนับสนุนการพัฒนาของตลาดทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ ESG อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยทั้งบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ และผู้ลงทุนต่างต้องการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทุนให้สอดคล้องกับเรื่อง ESG เพื่อให้บริษัทและผู้ลงทุนในวงกว้างรับรู้และให้ความสนใจในธุรกรรมการเงินแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมืองไทยประกันชีวิตเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะนำแนวคิดการพัฒนามาผสานกับเรื่องของการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (ESG) ในทุกกระบวนการ เพื่อส่งมอบคุณค่าระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยธุรกรรมการลงทุนในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของบริษัทในการบูรณาการแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุนของบริษัท และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยอีกทางหนึ่งอีกด้วย

ข่าวล่าสุด