นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยของประชาชน และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจตามวิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่ง พลเอก สุพจน์ มาลานิยม ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ ได้ขานรับนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนงานให้ประสบผลสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด
การเคหะแห่งชาติจึงได้เร่งดำเนินโครงการด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคล ภายใต้แผนพัฒนาบุคลากรระยะยาว มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชน และพัฒนาเมือง มีความคิดสร้างสรรค์และมุ่งเน้นนวัตกรรม มีความพร้อมในเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการทำงานอย่างมีคุณภาพ คุณธรรม และมีความสุข ส่งผลให้การเคหะแห่งชาติมุ่งดำเนินงานด้านการพัฒนาศักยภาพของพนักงานทุกระดับผ่านโปรแกรมช่วยส่งเสริมทักษะที่หลากหลาย เช่น ทักษะในการปฏิบัติงานในรูปแบบใหม่ (Upskill / Reskill) โครงการ NHA Young Blood และการจัดโครงการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต Growth Mindset – Change yourself for GROWTH เป็นต้น
โครงการ NHA Young Blood เป็นโครงการที่การเคหะแห่งชาติคัดเลือกกลุ่มบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีศักยภาพได้รับการอบรม ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ที่จำเป็น ควบคู่กับการมีทักษะในการบริหารจัดการมีความสามารถในการเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นนวัตกร และสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้หน่วยงาน รวมถึงการเสริมสร้างค่านิยมองค์กรที่เข้มแข็ง มีความเป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์ และได้แสดงศักยภาพในการคิดจัดทำโครงการเพื่อการพัฒนาองค์กรให้มีความยั่งยืน
นางสาวณัฐชา โสภา พนักงานจัดการทรัพย์สิน 4 หนึ่งในผู้ที่เข้ารับการอบรมโครงการ NHA Young Blood กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมโครงการ NHA Young Blood โดยกลุ่มของตนเองได้นำเสนอ “โครงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดความยั่งยืน” หลักสูตรการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนสามารถวางขายและแข่งขันในตลาดได้ โดยจัดอบรมให้ผู้อยู่อาศัยโครงการบ้านเอื้ออาทรนครปฐม (ศาลายา 3) ได้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์และฉลากของผลิตภัณฑ์สินค้า ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชน สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อก่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง
“สำหรับโครงการ NHA Young Blood ไม่เพียงแค่พัฒนาคุณภาพบุคคลากรในการเคหะแห่งชาติ แต่ยังช่วยยกระดับชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ชุมชน ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฐานรากเศรษฐกิจให้ยั่งยืนอีกด้วย” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย