Wednesday, 9 October 2024 - 4 : 29 am
spot_img
spot_img
spot_img

Splendor-Biz

สื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครบครันบนโลกออนไลน์

spot_img
spot_img
Wednesday, 9 October 2024 - 4 : 29 am
spot_img

DITP โชว์ผลเจรจาการค้าออนไลน์สินค้าอาหารฮาลาลสู่ตลาดอาเซียน ทำยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ ผลักดันสินค้าอาหารฮาลาลของไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจรวม 83 คู่ มีมูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี กว่า 10 ล้านบาท แถมมีโอกาสขายได้อีก ระบุยังช่วยให้ผู้นำเข้ารับรู้ศักยภาพสินค้าไทย ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค มั่นใจมีโอกาสส่งออกเพิ่มในอนาคต

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าสินค้าอาหารฮาลาลออนไลน์ ระหว่างวันที่ 22–25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อผลักดันการส่งออกอาหารฮาลาลไทย ตามกลยุทธ์อาหารไทย อาหารโลก เพื่อมุ่งเน้นการส่งออกอาหารฮาลาล ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์)โดยมุ่งเน้นการเจาะเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน มีผู้ประกอบการจำนวน 36 ราย เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจออนไลน์กับผู้นำเข้าที่มีศักยภาพ และผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 21 รายจาก 9 ประเทศ โดยเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจรวม 83 คู่เจรจา มีผลการเจรจาการค้าคาดการณ์ภายใน 1 ปี จากผู้นำเข้า 2 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10.11 ล้านบาท สำหรับผู้นำรายอื่นอยู่ในระหว่างให้ผู้ประกอบการไทยจัดส่งตัวอย่างสินค้าไปให้พิจารณา รวมถึงส่งข้อมูลสินค้าและราคาสินค้า เพื่อใช้ในการพิจารณาและศึกษาสินค้าต่อตลาดผู้บริโภค ก่อนตัดสินใจเลือกนำเข้าสินค้าที่เหมาะสมกับตลาดต่อไป ส่วนสินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ ข้าวออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า มะพร้าวขูดอบแห้ง ไข่มุกมันสำปะหลัง ถั่ว เครื่องปรุงรส ซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง อาหารทะเลแปรรูป มันฝรั่งทอดกรอบ มะม่วงหิมพานต์เผา เเคบปลาหมึก ขนมขบเคี้ยว ผลไม้แห้ง ชาไทยชนิดปรุงสำเร็จ และเครื่องดื่มที่มีระดับน้ำตาลต่ำกว่า 5 กรัม/100 มิลลิลิตร

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ พบว่า ผู้นำเข้าได้รับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าอาหารฮาลาลของไทย และรับรู้ว่าไทยมีความได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์ รวมถึงสินค้าอาหารฮาลาลของไทยเป็นที่ยอมรับในด้านความน่าเชื่อถือ คุณภาพ และความหลากหลายที่สามารถตอบสนองกับรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคในแถบภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผู้ประกอบการไทย ได้เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการสินค้าอาหารฮาลาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อมูลเพื่อนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี”นายสมเด็จกล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม (สกอ.) ได้ร่วมกับสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล (สตพ.) จัดขึ้น เนื่องจากเห็นว่าตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) เป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ที่เป็นที่จับตามองของผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการทั่วโลก อันเนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนมากและเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2573 จำนวนประชากรมุสลิมจะกลายเป็นประชากรกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงแนวโน้มความนิยมอาหารฮาลาลที่มีมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป จากกระแสการบริโภคอาหารปลอดภัย เนื่องจากอาหารฮาลาลมีระบบการผลิตที่เข้มงวดในความสะอาดตามหลักความเชื่อทางศาสนา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกและผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดนี้ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 1,972 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 59,160 พันล้านบาท) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2567) หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยขยายตัวเพิ่มขึ้น (CAGR) ถึงปีละร้อยละ 6.3 เลยทีเดียว

ในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยมีมูลค่า 118,531.66 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าในปี 2564 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 หรือ 122,087.61 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดๆ ไป ซึ่งนับเป็นกลุ่มสินค้าที่จะสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพและเป็นแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังอาเซียนในปี 2563 มีมูลค่า 54,544.56 ล้านบาท ซึ่งสินค้าอาหารฮาลาลของไทยที่เป็นที่นิยม ประกอบด้วย น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งตลาดกลุ่มนี้ยังมีช่องว่างและโอกาสอีกมากที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าชิงส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้าอาหารฮาลาลจากประเทศคู่แข่ง

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

ข่าวล่าสุด

spot_img