นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดชัยนาทมีนโยบายส่งเสริมการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร โดยลดพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกพืชชนิดอื่นหรือปรับเปลี่ยนอาชีพที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งการเลี้ยงแพะเนื้อ เป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะให้ยั่งยืน มีผลผลิตที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการบริโภคซึ่งเป็นทางเลือกที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกอาชีพหนึ่ง เนื่องจากการเลี้ยงแพะเนื้อใช้พื้นที่เลี้ยงต่อตัวน้อยและที่สำคัญเลี้ยงง่าย กินอาหารพวกพืชได้หลายชนิด ส่งเสริมการเพิ่มรายได้โดยใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต” ที่ทำแล้วได้ผลจริง
หากมองถึงสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อในจังหวัดชัยนาท (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563) พบว่า มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 778 ราย จำนวน 30,883 ตัว มีการเลี้ยงกระจายในทุกอำเภอ ซึ่งอำเภอที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญได้แก่ สรรคบุรี และสรรพยา นิยมเลี้ยงสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว อัตราการให้ลูกแฝดสูง เป็นที่นิยมของตลาด ซึ่งในพื้นที่อำเภอสรรพยามีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อโดยการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพปศุสัตว์บ้านหนองกุ้ง นับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการผลิตแพะเนื้อส่งออกตลาดต่างประเทศ
จากการลงพื้นที่ของ สศท.7 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพปศุสัตว์บ้านหนองกุ้ง โดยสัมภาษณ์นายประมวล คล้ายทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ บอกเล่าว่า เดิมนั้น ตนได้ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ทำนา 80 ไร่ แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงมองหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ประกอบกับมีโครงการของทางภาครัฐมาให้ความรู้ด้านปศุสัตว์เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะเนื้อ ทำให้ตนสนใจและศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และได้ต่อยอดเรื่อยมาจนสามารถจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพปศุสัตว์บ้านหนองกุ้งผลิตแพะจำหน่ายจนประสบความสำเร็จ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 50 ราย มีแพะจำนวน 1,574 ตัว เป็นแพะสายพันธุ์ลูกผสมบอร์ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,714 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 375 บาท ค่าแรงงาน 795 บาท ค่าอาหาร 1,125 บาท และส่วนที่เหลือ 419 บาท เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยแม่แพะ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะ 1-3 ตัว/รุ่น สำหรับแพะเพศเมีย จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 10 ปี มีระยะเวลาการตั้งท้อง 5 เดือน พักท้อง 1-2 เดือน ซึ่งแพะจะมีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 6-8 เดือน ในราคา 4,650 บาท/ตัว หรือ 150 บาท/กก. (น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 31 กก./ตัว) คิดเป็นรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,936บาท/ตัว ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถรวบรวมแพะเนื้อได้ 200 – 300 ตัว/เดือน นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำมูลแพะมาใช้กับนาข้าวเพื่อช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี และสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำมูลแพะมาจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท
สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด พบว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ จะเป็นผู้รวบรวมผลผลิตทั้งหมดจากสมาชิกเพื่อส่งขายต่อให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอุทัยธานี โดยผลผลิตทั้งหมดจะส่งออกไปยังตลาดประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีเกษตรบางส่วนในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกประมาณ 30 ราย ส่งจำหน่ายแพะเนื้อให้กับกลุ่มวิสาหกิจฯ เป็นผู้รวบรวมส่งขายต่อด้วย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จะเพิ่มปริมาณการเลี้ยงแพะเนื้อเพื่อรองรับการผลิตเนื้อแพะแช่แข็งตามมาตรฐานฮาลาลซึ่งตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น
ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวทิ้งท้ายว่า แพะเนื้อเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็วและใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และให้ผลตอนแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการแพะเนื้อเป็นจำนวนมาก จึงนับเป็นอีกหนึ่งสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ และนอกจากการจำหน่ายแพะเนื้อที่สามารถสร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกรแล้ว มูลแพะยังสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยขายได้ เนื่องจากมูลแพะมีธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ปลอดภัยจากสารเคมีไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและตลาดแพะเนื้อในจังหวัดชัยนาทสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายประมวล คล้ายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพปศุสัตว์บ้านหนองกุ้ง เลขที่ 7 หมู่ 2 ต.เขาแก้ว อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โทร 09 4623 3777 หรือ สศท.7 โทร. 0 5640 5005 อีเมล์ zone7@oae.go.th