สินค้าไทย…ถือเป็นสินค้าที่มีจุดเด่นด้านอัตลักษณ์ ที่สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เลือกซื้อหา นำกลับไปเป็นของขวัญและของฝากจำนวนมาก ทว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เป็นอุปสรรค์ของการพัฒนาสินค้าของฝากนั้น คือ ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเห็นได้จากลักษณะของของฝากในแต่ละภูมิภาค ยังไม่สามารถชูอัตลักษณ์และสร้างความต่าง ให้เกิดขึ้นชัดเจนได้
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ กสอ. หน่วยงานสำคัญที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการในชุมชน จึงได้เร่งจัดกำลังพล นักวิชาการสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าของฝากให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จุดหมายใหญ่ที่ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติต่างหมายตา เพราะสะดวกในแง่ของการเดินทาง มีทั้งทะเลและภูเขาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สามารถรองรับความต้องการท่องเที่ยวได้หลากหลาย จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการชุมชน จะใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รองรับการท่องเที่ยวที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งในของฝากขึ้นชื่อของเมืองภูเก็ต นั่นคือ ผ้าบ่า บ๋า ย่าหยา ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่ กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 เข้าไปพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์พัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ การพัฒนาผ้าเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องประดับในโรงแรม รวมทั้งพัฒนาเป็นสิ่งของที่ระลึก สร้างความหลากหลายให้กับผ้าบ่า บ๋า ย่าหยา ทั้งยังดำเนินการปรับรูปแบบเสื้อผ้าอาภรณ์ ให้มีความทันสมัย โดยใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของชุมชนในการทำผ้าบาติก พัฒนาลวดลายและรูปทรงให้สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
เพื่อให้การพัฒนาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกเหนือจากการยกระดับสินค้าของฝากให้มีคุณภาพแล้ว กสอ. ยังได้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว “สุขกาย-สุขใจ” เพื่อสร้างเอกภาพสำหรับการท่องเที่ยว ทั้งอาคาร อาหาร อาภรณ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ไทยหัว ที่อดีตเคยเป็นโรงเรียนภาษาจีนแห่งแรกในภูเก็ต ,หมอเหลา อาคารบ้านเรือนแบบลูกผสมชิโน-ยูโรเปียน , บ้านเลขที่ 88 หรือ อี้โป้เต้ง พิพิธภัณฑ์เก็บข้าวของเก่าแก่ รวมทั้งบ่อน้ำโบราณแบบจีนที่อยู่กลางบ้าน , โรงตีเหล็กไต่สุ้นอั้น ที่ยังเปิดดำเนินการตีเหล็กแบบดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้รับชม และ บ้านขุนนิเทศจีนารักษ์ จุดแวะพักจิบชากับขนมปุ้นแต่โก้ย รวมทั้งส่งเสริมการจัดถนนคนเดินหลาดใหญ่ อยู่บริเวณถนนถลาง เป็นถนนคนเดินที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศอาคารเก่า สร้างจุดดึงดูดในกับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวในครั้งนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้กว่า ร้อยละ 60 ถือเป็นอีกหนึ่งรูปธรรมของการพัฒนา “อาภรณ์ – อาหาร – อาคาร” ครบทุกมิติในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ทั้งยังดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาหมี่ฮ๊กเกี้ยนอาหารขึ้นชื่อของภูเก็ต โดยในกระบวนการด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ กสอ. มีความเชี่ยวชาญ พัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อไปประกอบอาหารทานเองได้ที่บ้านของตน จากเดิมที่ต้องเดินทางมารับประทานในพื้นที่ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นสินค้าของฝากขึ้นแห่งดินแดนอันดามันชื่อ ทัดเทียมหมี่โคราช ของฝากขึ้นชื่อของดินแดนที่ราบสูง โดยมีเป้าหมายเจาะตลาดในประเทศในช่วงต้นปี 2564 และเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการแปรรูปอาหารพื้นถิ่นกว่าร้อยละ 60
หลักสำคัญของการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าของฝาก ของ กสอ. ก็ คือ การพัฒนาควบคู่กับไปใน 3 มิติ ทั้ง ผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และการพัฒนาอาหารพื้นถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถดื่มด่ำอัตลักษณ์ของชุมชน กระตุ้นให้เกิดความต้องการศึกษาเรื่องราวชุมชน และสร้างการจดจำโดยมีสินค้าของฝากเป็นตัวแทนความทรงจำในสถานที่นั้นๆ แม้ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ กลับมาสร้างผลกระทบให้กับการท่องเที่ยวอีกครั้ง ทว่าในช่วงเวลานี้ เป็นนาทีทองของผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการของตน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในประเทศที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่เพื่อให้สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กสอ. จึงเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ DIProm มาร์เก็ตเพลส เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการในทุกชุมชนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังมีระบบคัดกรองคุณภาพเพื่อการันตีผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนไทย ให้มีรายได้ในภาวการณ์ปัจจุบัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipindustry และ www.dip.go.th